อดฉาย “เชคสเปียร์ต้องตาย” ศาลปกครองชี้ คกก.หนังใช้ดุลพินิจถูกต้อง ฉากแขวนคอเก้าอี้ทุบ ทำแตกสามัคคี

8.19.2017

 

 “ศาลปกครองกลาง” ยกฟ้องคดีกลุ่มผู้สร้างและผู้กำกับฟ้อง คกก.พิจารณาภาพยนตร์เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งห้ามฉายหนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ระบุฉากชายชุดดำโพกผ้าแดงแขวนคอผู้กำกับละครแล้วใช้เก้าอี้ทุบ อาจทำสังคมแตกแยก คณะ กก.ใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว ไม่เป็นการจำกัดสิทธิ
       
       วันนี้ (11 ส.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย” ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่ห้ามนำฉายภาพยนตร์ เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร เหตุเกิดเมื่อปี 2555 โดยศาลเห็นว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีเนื้อหาสาระบางส่วนอาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญของภาพยนตร์โดยตลอดเรื่องอย่างเชื่อมโยงร้อยเรียงเป็นเนื้อเดียวกันว่า มีเนื้อหาเข้าลักษณะก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติหรือไม่ แม้นายมานิตกับพวกจะกล่าวว่าประเทศในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเทศสมมติ แต่โดยที่มีเนื้อหาหลายฉากหลายตอนสื่อให้เห็นได้ว่าเป็นสภาพสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิใช่ประเทศสมมติตามที่นายมานิตกับพวกอ้าง
       
       สำหรับฉากที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 เห็นว่า คล้ายกับเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 อันเป็นฉากที่พิพาทนั้น เป็นฉากที่มีกลุ่มผู้ชายใส่เสื้อสีดำโพกผ้าสีแดงที่ศีรษะจำนวนหนึ่ง ถือท่อนไม้วิ่งเข้าไปในโรงละครแล้วทำร้ายคนดูละคร คณะนักแสดง จับผู้กำกับละครแขวนคอ โดยมีชายสวมแว่นดำถือเก้าอี้เหล็กพับทุบตีที่ร่างกายของผู้กำกับละครที่ถูกแขวนคอ โดยมีกลุ่มผู้ชายโพกผ้าสีแดงที่ศีรษะส่งเสียงสนับสนุนการกระทำนั้น เป็นการนำเหตุการณ์ร่วมสมัยมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต หรือผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความรู้สึกเคียดแค้นชิงชัง อันอาจเป็นชนวนให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติได้ เมื่อในการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3ได้แจ้งให้นายมานิตและพวกแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทภาพยนตร์ในฉากดังกล่าวแล้ว แต่นายมานิตและพวกยืนยันที่จะไม่ทำการแก้ไขทั้งที่สามารถดำเนินการได้ โดยมิได้ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาสำคัญของเรื่อง รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับด้านมืดและด้านสว่างของมนุษย์ บาปบุญคุณโทษ ผลกรรม และการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมภายในจิตใจคน ที่นายมานิตและวกประสงค์จะนำเสนอให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้รับรู้
       
       อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนังสืออุทธรณ์ของนายมานิตกับพวก ฉบับลงวันที่ 17 เม.ย. 2555 ที่รับว่าได้มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงฉาก 6 ต.ค. 2519 และฉากที่มีการใช้สีแดง แสดงให้เห็นว่านายมานิตกับพวกทราบและเข้าใจแล้วว่าบทภาพยนตร์ในส่วนใดที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ประสงค์ให้แก้ไขหรือตัดทอน ประกอบกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นรากฐานความดีงามของสังคมไทยที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมายธำรงรักษา จึงบัญญัติให้เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถยกขึ้นใช้เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่า ในการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์จะถือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองให้ผู้ประกอบอาชีพมีสิทธิและเสรีภาพในการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์ก็ตาม แต่สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อจำกัดบางประการตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 คือ ภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นมาจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย
       
       ดังนั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้นายมานิตกับพวกนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ซึ่งเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ การที่ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว 


ที่มา  https://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9600000082128

0 comments: