Back Story : "เช็คสเปียร์"ต้องตาย เรท ห เรื่องที่สอง

4.08.2012

 











การกำหนดเรท ห หรือการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ในประเทศไทย มีภาพยนตร์ที่ถูกสั่งแบนมาแล้ว 2 เรื่องด้วยกัน ล่าสุดกับภาพยนตร์เรื่อง เช็คสเปียร์ต้องตาย ทั้งที่เป็นการสร้างด้วยงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งในสมัยรัฐบาลที่ผ่าน มา แต่เมื่อถูกมองว่ากระทบความมั่นคง จึงต้องถูกแบนไปในที่สุด ทั้ง 2 เรื่องที่ถูกสั่งห้ามฉาย

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกไซเบอร์ ที่พูดถึงกรณีการให้เรท ห หรือ ห้ามฉาย กับภาพยนตร์เรื่อง เช็คสเปียร์ต้องตาย กลายเป็นการสะท้อนเรื่องราวของการปิดหูปิดตาประชาชน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม นั่นคือ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ลงมติเลือกว่าอะไรที่ประชาชนควรดูหรือไม่ควรดู

แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่กรณีดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้แต่กระทั่งการจะดูภาพยนตร์ กลับต้องถูกตัดสินว่า เรื่องไหนดูได้ เรื่องไหนดูไม่ได้ ทั้งที่มีการกำหนดการจัดประเภทภาพยนตร์ แบ่งตามเรทเอาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่อง เช็คสเปียร์ต้องตาย ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกคำสั่งห้ามฉายในเมืองไทย เพราะหลังจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 บังคับใช้ พบว่า ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกสั่งห้ามฉาย คือ เรื่อง อินเสค อิน เดอะ แบล็คยาร์ด ภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับหน้าใหม่ และเป็นตัวแสดงนำในเรื่องด้วย

เนื้อหาของ "Insects In the Backyard" บอกเล่าชีวิต 2 พี่น้อง "เจนนี่" และ "จอห์นนี่" ที่กำพร้าแม่ เติบโตขึ้นมาด้วยการดูแลของพ่อซึ่งเป็นเพศที่สาม สภาพแวดล้อมเลยสร้างบรรยากาศประหลาดให้กับคนทั้งสอง จนภายหลังทั้งคู่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านไป

ครั้งนั้น มีเหตุผลจากกรรมการท่านหนึ่งที่ลงมติสั่งห้ามฉาย ระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้เนื้อหาของเรื่องจะพยายามสะท้อนสภาพสังคม แต่สิ่งที่นำเสนอมีความรุนแรงมาก ทั้งภาพ และภาษา อีกทั้งยังมีฉากที่แสดงให้เห็นว่า ลูกอยากจะฆ่าพ่อของตัวเอง มีการใช้มีดแทงจนเลือดท่วม ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง

ส่วนภาพยนตร์เรื่อง เช็คสเปียร์ต้องตาย เป็นผลงานการกำกับของ “สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” หรือ อิ๋ง เค เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัล คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 7 ประจำปี 2552 จากสารคดีเรื่องยาว “พลเมืองจูหลิง”



ทั้งนี้ ตามเอกสารบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ได้ระบุถึงเหตุผลของการแบนภาพยนตร์ เรื่องนี้ว่า “คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 ข้อ 7(3) จึงมีมติไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551”

สำหรับเรื่องย่อของภาพยนตร์เช็คสเปียร์ต้องตาย สร้างขึ้นจากบทละคร “โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ” ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกของโลก เนื้อเรื่องว่าด้วย เรื่องราวของขุนพลที่มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขต และคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์ ที่ถูกแม่มดทักว่าจะได้เป็นกษัตริย์ในภายหน้า และโดยการยุยงของภรรยา เขาจึงสังหารพระราชาเพื่อสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แล้วขึ้นปกครองแผ่นดินด้วยความบ้าอำนาจ จนทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในยุคมืดมนแห่งความหวาดกลัว ขณะที่ตัวของเขาเองก็หาได้มีความสุขแต่อย่างใดเพราะต้องใช้ความรุนแรงเพื่อ รักษาอำนาจของตนไว้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี การแสดงออกในท่าทีที่สวนทางกับการเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีความคิดเสรี บนพื้นฐานที่ทุกคนอยู่บนความเท่าเทียมกัน แต่เพียงแค่เรื่องง่ายๆ กับต้องถูกตีกรอบว่า หากดูภาพยนตร์เรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามอยู่ ทั้งที่การชมภาพยนตร์เป็นแค่เพียงเรื่องของการเสพงานศิลป์แขนงหนึ่งเท่านั้น

แต่ขณะเดียวกัน การขายปืนเถื่อน การลักลอบซื้อขายยาเสพติด หรือการซื้อขายวัตถุประกอบระเบิด ปรากฎว่าสามารถทำได้ง่าย และดูคล้ายว่าเป็นไปอย่างเสรี ดูเหมือนว่าแนวคิดประชาธิปไตยในเมืองไทย อะไรที่ผิด หรือเรื่องใต้ดิน มักจะเสรีได้อย่างปลอดภัย แต่พอจะวิพากษ์วิจารณ์ในความจริง กลับถูกมองว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผิดหลักการ หรือว่าเรา จะต้องอยู่ด้วยกัน แบบลักลอบแบบนี้ต่อไปถึงจะดี



http://news.voicetv.co.th/thailand/35927.html

0 comments: