เมื่อกองเซ็นเซอร์ไทย ปราบผีเชคสเปียร์

5.18.2012

 

เมื่อกองเซ็นเซอร์ไทย ปราบผีเชคสเปียร์
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9550000059658
โดย ** อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
15 พฤษภาคม 2555

หลังจากคาราคาซังกันมาสักพัก ในที่สุด บอร์ดที่ประชุมพิจารณาภาพยนตร์ ก็มีมติ 18 ต่อ 4 เสียง สั่งแบนหนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในท่ามกลางการติดตามของคอหนังหลายคนกับท่าทีของผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ ว่า ถ้าถูกแบนจริงๆ ก็จะยังจัดฉายหนังเรื่องนี้ แม้ว่าตัวเองจะต้องถูกจับติดคุกก็ตามที ก็มีมุมที่น่าคิดว่า ชะตากรรมของหนังเรื่องนี้ มันตีแผ่ให้เราเห็นอะไรบ้างภายใต้โครงสร้างของสังคมนี้

เล่าให้ฟังอย่างย่นย่อครับว่า Shakespeare Must Die หรือ “เชคสเปียร์ต้องตาย” เป็นผลงานการกำกับของ “สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” โดยมี “มานิต ศรีวานิชภูมิ” เป็นผู้อำนวยการสร้าง ตัวหนังนั้นดัดแปลงมาจากบทละครของกวีเอก “วิลเลียม เช็กสเปียร์” เรื่อง “โศกนาฏกรรมของแม็คเบ็ธ” (The Tragedy of Macbeth) แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองของหนังผี

ด้วยวิธีการเล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร “เชคสเปียร์ต้องตาย” ด้วยเรื่องราวของขุนนางผู้มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขต เหตุการณ์ในหนังจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ละครเวที และโลกภายนอกในเหตุการณ์ร่วมสมัย มีตัวละครนำชื่อ “เมฆเด็ด” เป็นขุนนางที่ล้มอำนาจกษัตริย์ แล้วสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เมฆเด็ดลุ่มหลงในอำนาจ เกิดหวาดระแวงว่าจะถูกล้มล้าง จนต้องฆ่าใครต่อใครเพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป...

เป็นที่รู้กันดีสำหรับนักอ่านครับว่า บทละครเรื่องนี้มีอายุยืนยาวกว่าสี่ร้อยปี ความดีงามของบทประพันธ์ ทำให้มันได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาชั้นมัธยมต้นของหลายประเทศทั่ว โลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์แบนหนังเชคสเปียร์คราวนี้จะทำให้ชนชาวโลกตื่น ตกใจด้วยความไม่เชื่อ สื่อมวลชนในระดับนานาชาติต่างพากันหยิบข่าวนี้ไปพาดหัวข่าวกันอย่างเอิก เกริก

มีการพูดกันในเชิงติดตลกทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง ว่า ถ้าเพียงแต่ปล่อยให้หนังเรื่องนี้เข้าฉายไปตั้งแต่แรก มันก็คงไม่ถูกพูดถึง ซ้ำร้ายยังกลายเป็นที่ปรารถนาได้ใคร่ชมมากถึงเพียงนี้ เพราะก็อย่างที่ผู้กำกับบอก มันเป็นหนังผีต้นทุนต่ำ เข้าฉายได้ก็โรงเล็กๆ คนดูหรอมแหรม แต่พอมีการสั่งแบน มันเลยกลายเป็นว่าไปส่งเสริมความดังให้กับหนังอย่างที่คนแบนเองก็คงคาดไม่ ถึง

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงตลกร้ายที่ไม่มีใครอยากขำกับมันสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กำกับ-ผู้สร้าง ที่อยากเห็นหนังเรื่องนี้ออกสู่สายตาของคนดูผู้ชม ขณะที่เราอาจจะกำลังพยายามหาคำตอบว่าเพราะอะไร หนังเรื่องนี้ถึงไม่ได้ฉาย ซึ่งก็มีการพูดกันไปต่างๆ นานา เช่น เนื้อหามันพูดพาดพิงถึงอดีตผู้นำบางคนหรือเปล่า เพราะดูจากเรื่องย่อแล้ว ช่าง “พ้องพาน” กันเหลือเกิน ผมคิดว่ามันมีประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น และมันเหมือนกับ “เงามืด” ที่ยังแผ่รัศมีปกคลุมหุ้มห่อสังคมไว้อย่างน่าอึดอัด

เสรีภาพในกรงขัง
เป็นที่ทราบกันว่า ปีสองปีมานี้ แวดวงหนังบ้านเรามีการนำระบบการจัดเรตติ้งมาใช้ โดยมี พ.ร.บ.ภาพยนตร์ รองรับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนทำหนังเองก็ยังไปไม่พ้นจากระบบเก่าที่มาพร้อมกับ “กรรไกรแห่งอำนาจ” ซึ่งพร้อมจะตัดเส้นทางมุ่งสู่การฉายของหนังบางเรื่อง ซึ่งก่อนหน้า Shakespeare Must Die ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะเป็น Insects in the Backyard ที่โดนชะตากรรมเดียวกัน

การจัดเรตติ้ง เหมือนเป็นการันตีในสิทธิเสรีภาพทางด้านการแสดงออกของภาพยนตร์อยู่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะอันที่จริง เสรีภาพนั้นยังคงถูกตีกรอบไม่แตกต่างไปจากเดิม เพราะการเซ็นเซอร์ที่ยังมีบทบาทอยู่ มันจึงกลายเป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกอีกช็อตหนึ่งสำหรับคนทั่วไปที่มีสติปัญญา ดีว่า มีเรตติ้งแล้ว จะยังมีเซ็นเซอร์อยู่อีกทำไม เพราถึงมีเรตติ้งไป ก็ไม่ต่างอะไรกับเสรีภาพที่อยู่ในกรงขัง

ผมเห็นด้วยกับบางความคิดเห็นของศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่พูดว่า อยากให้คนไทยและต่างชาติได้ชมหนังเรื่องนี้ และว่า “เราจะมีเรตติ้งไว้ทำไม เมื่อมีเรตติ้งแล้วก็ต้องพิจารณาไปตามเรต นี่สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ 2551 ทั้ง 7 เรตติ้ง ของกระทรวงวัฒนธรรม ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข”

ไม่แน่ใจว่า ถ้อยคำนี้จะเป็นเพียงเสียงแห่งความเห็นที่ผ่านเข้ามาแล้วเลือนหายไปหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผมเชื่อว่า ประชาชนไม่ใช่อย่างที่คนบางคนกลุ่ม “คิดไปเอง” ต่อไปแล้ว

ประชาชนคือเด็กน้อยผู้บอบบาง
กรอบความคิดที่ว่าประชาชนควรได้รับการปกครอง และทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านการคัดกรองจากคนบางกลุ่ม น่าจะเป็นแนวคิดที่คร่ำครึหมดสมัยไปนานแล้ว ประชาชนไม่ใช่ “เด็กน้อยตัวเล็กๆ” ของประเทศที่รัฐเป็นผู้ใหญ่ดังเช่นยุคโบราณที่ผ่านมา และทุกคนควรมี “สิทธิ์” ที่จะเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเท่าเทียม อีกทั้งควรมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา วิเคราะห์วิจารณ์ หรือกระทั่งตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวของพวกเขาเอง

ดังนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะต้องมาเป็นวิตกกังวลกันต่อไปแล้วว่า “หนังเรื่องนี้อาจจะก่อให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีของคนในชาติ” ที่ผมใช้คำว่า “วิตกกังวล” เพราะเมื่อเราอ่านเหตุผลของบอร์ดผู้พิจารณา เราจะพบคำว่า “อาจจะ” คำๆ นี้ นอกเหนือไปจากจะส่อให้เห็นถึงความไม่แน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นก็ได้ หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ยังมีเค้าของความกังวลปนอยู่ในนั้นด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทางคณะกรรมการก็ใช้ “ดุลพินิจบนพื้นฐานแห่งความไม่มั่นใจ” นี้ ลงดาบตัดสิทธิ์ห้ามฉายหนังเรื่องดังกล่าวไป

มันน่าคิดนะครับว่า หนังเรื่องหนึ่งจะก่อให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีระหว่างคนในชาติได้อย่างไร เมื่อเทียบกับในอดีตซึ่งมีการทำหนังจำพวก Propaganda หรือหนังโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อโหมกระพือความเกลียดชังอย่างโจ่งแจ้งแล้ว อย่างเช่น หนังของเยอรมันยุคนาซี ที่ยุยงส่งเสริมอคติทางชาติพันธุ์ หรือหนังของพวกคอมมิวนิสต์ แต่เดี๋ยวนี้ ผมคิดว่าผู้คนเขารู้ทันหนังแบบนั้นกันหมดแล้วครับ ใครจะมาใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือเช่นนั้น คงจะมีก็แต่พวกเต่าล้านปีกระมัง

และถ้าจะพูดกันถึงคำว่า “ความสามัคคีของคนในชาติ” นี่ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงคำพูดสวยหรู ลมๆ แล้งๆ เพราะพูดก็พูดเถอะ ต่อให้ประเทศนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์ คนในชาติก็มีความไม่ลงรอยกันในหลากหลายเรื่องราวอยู่ดี และยิ่งถ้าคุณเป็นมนุษย์โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กสักหน่อย ก็จะพบว่า ผู้คนบนโลกออนไลน์ทำเรื่องนี้กันเป็นปกติอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ ภาพยนตร์เรื่องใดมาคอยบอกว่า “ได้เวลาแตกแยกกันแล้ว ท่านทั้งหลายจงทะเลาะกัน”

มันน่าแปลกใจเหมือนกับที่หลายๆ คน พูดว่า เพราะอะไร เมื่อเทียบกันกับสื่อทุกสื่อแล้ว ภาพยนตร์ดูเหมือนจะถูกจับจ้องและริดรอนมากกว่าสื่ออื่นๆ ราวกับว่า มันเป็นผู้ร้าย สื่ออย่างละครทางฟรีทีวีไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเรื่อง นำเสนอความชิงชังเคียดแค้นอิจฉาริษยาไปจนถึงการดูหมิ่นถิ่นแคลนในความเป็น มนุษย์ของกันและกัน แต่กลับได้รับการอนุมัติให้ฉายซ้ำ วนไปวนมา เรื่องแล้วเรื่องเล่า และเอาเข้าจริง เมื่อเปรียบเทียบกัน สื่อทีวีพวกนี้เข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางและซึมลึกยิ่งกว่าภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ไป และซ้ำร้าย จริตแบบละครพวกนี้อีกนั่นแหละที่มีโอกาสมากกว่า (เพราะจำนวนเยอะกว่าหนัง) ต่อการที่จะฝังลึกอยู่ในกมลของคนดูและนำไปสู่โลกทัศน์ที่บิดเบี้ยวอย่างไม่ รู้เนื้อรู้ตัว

พูดแบบนี้ ไม่ได้จะกล่าวโทษละครไทยแต่อย่างใด เพราะในร้ายก็ยังมีดี และลึกๆ ผมก็ยังเชื่อว่า คนดูผู้ชมล้วนแล้วแต่มีดุลพินิจที่จะพิจารณา เห็นว่า นั่นมันก็เพียงแค่ละคร สิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางดีที่เห็นว่าเหมาะควร ก็หยิบมาสอนใจตัวเองได้ เช่นเดียวกันกับดุลพินิจของผู้ชมภาพยนตร์ที่ย่อมรู้กันอยู่แล้วว่า สื่อที่ตนเองกำลังจ้องดูบนจอผ้าใบ มันก็คือ ภาพมายา หาใช่ “ความจริง” แต่อย่างใดไม่ แต่หากใครจะขบคิดไปในทำนองไหน ก็เป็นศิลปะชั้นเชิงของหนังเรื่องนั้นๆ และเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล เพราะถ้ามันไม่ใช่หนังโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นงานที่เปิดกว้างให้ผู้เสพได้ใช้สติปัญญาตีความไปตามพื้นฐานของแต่ละ คน ก็จะนับเป็นการขยับขยายและเพิ่มความหลากหลายทางโลกทัศน์ให้เพิ่มพูนมากยิ่ง ขึ้น

ประเทศที่พัฒนาแล้ว ความเจริญด้านภาพยนตร์ของเขา จะไม่ได้หยุดอยู่แค่การเสิร์ฟหนังตลก ผี แอกชัน หรือขายฝันหวานๆ ให้กับประชาชนเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีพื้นที่ให้กับหนังที่มีคุณค่าโภชนาการต่อสติปัญญาและกระตุ้นให้ ผู้คนในประเทศของเขาคิดกับความเป็นไปในในสังคมด้วย

แต่ก็อย่างที่บอกว่า ถ้าเราไม่เชื่อว่าประชาชนคิดเป็น เราก็จะยังคงมองเห็นด้วยแว่นตาแห่งมายาคติของเราต่อไปว่า ประชาชนเป็นเพียงผู้เด็กน้อยผู้บอบบางที่ต้องการ “ผู้นำทาง” ในทุกเรื่องราว

‘อนิจจา บ้านเมืองน่าเวทนา
เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง’

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงประเทศอย่างอเมริกาที่เปิดโอกาสให้คนทำหนังได้ตั้งคำถาม หรือกระทั่งสร้างผลงานวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ของเขา ไล่ตั้งแต่หนังวิพากษ์สงคราม หนังวิพากษ์การเมือง นักการเมือง ตำรวจ ฯลฯ ความใจกว้างของรัฐบาลอเมริกานั้น ถึงกับว่าให้ทุนแก่คนทำหนัง สร้างผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเองด้วยซ้ำไป

แม้แต่ประเทศจีน ที่ว่ากันว่า “หินที่สุด” ในการที่จะปล่อยให้ใครวิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมือง ก็ยังมีความยืดหยุ่นมากกว่า (แม้จะยังมีการจำกัดอยู่) ในแง่ที่ว่า เปิดโอกาสให้คนทำหนังได้ทำหนังที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งชาติของตัวเอง เท่าที่ผมจำได้ หนังเรื่อง Bodyguard and Assassin ก็ยังเชื่อมโยงถึงเรื่องราวของอดีตผู้นำบางคน และมีนัยยะแห่งการวิพากษ์รวมอยู่ในนั้นด้วย

แต่กับเมืองไทยที่ดูเหมือนจะเสรีมากกว่า อย่างน้อยๆ ก็เป็นประชาธิปไตย และให้ความคุ้มครองต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน แต่เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่า เราไม่ค่อยจะสามารถพูดอะไรได้นักเกี่ยวกับ “ตัวเราเอง” เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ของตัวเราเอง” เฉพาะอย่างยิ่ง กับสื่ออย่างภาพยนตร์ที่มักจะเป็นที่เพ่งเล็งตลอดเวลา หากมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับบ้านเมือง ไม่เว้นแม้แต่หนังเรื่อง Shakespeare Must Die นี้ ก็ชี้ชัดว่า เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้หนังโดนแบน ก็เพราะมีฉากที่ “เขาว่ากันว่า” พาดพิงเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา

อันที่จริง ที่ผ่านมา มีหนังไทยหลายเรื่องที่พาดพิงเกี่ยวเนื่องกับฉากเหตุการณ์ 6 ตุลา เช่น มหา’ลัยสยองขวัญ, October Sonata ซึ่งถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน หนังเหล่านั้นก็ไม่สมควรที่จะ “ผ่าน” ด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า หรือว่า Shakespeare Must Die จะไป “แทงใจดำ” ใครหรือเปล่า จึงได้รับการยกเว้น (ที่ไม่พึงประสงค์)

แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แบนหนังเรื่องนี้ก็บอกกล่าวกับเราได้พอเลาๆ ใช่ไหมว่า เราไม่สามารถพูดอะไรได้เกี่ยวกับตัวของเราเอง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเราเอง เราไม่กล้าที่จะยอมรับความจริง (ทั้งที่จริงๆ มันเป็น “หนัง” ไม่ใช่ “ความจริง”) หรือว่าเรากลัวอะไรบางอย่างอยู่ เหมือนกับที่ “เมฆเด็ด” ในหนังเช็กสเปียร์ต้องตายหวาดกลัวอยู่

การต่อสู้กับความกลัว ไม่น่าจะใช่การปิดกั้น หรือหลีกหนีหรือกระทั่งทำลายเผาผลาญสิ่งที่เราหวาดกลัวครับ เหมือนกับ บรู๊ซ เวย์น แห่ง Batman Begins ต่อเมื่อเขาเข้าไปเผชิญหน้ากับฝูงค้าวคาวอีกครั้งหนึ่งจึงพบว่า ฝูงสัตว์ปีกซึ่งตัวเองเคยมีมโนภาพฝังอยู่ในใจคล้ายภูติผีที่ตามหลอกหลอนไม่ เลิกรามาตั้งแต่เด็ก ก็เป็นเพียงค้างคาวธรรมดาๆ ที่ทำอะไรต่อจิตใจของเขาไม่ได้อีกต่อไป

การเผชิญหน้ากับความจริง คือ สิ่งที่จะทำให้เราก้าวพ้นจากความกลัวได้อย่างดีที่สุดครับ เช่นเดียวกับการศึกษาตีความประวัติศาสตร์ นอกจากไม่มีอะไรจะต้องขลาดกลัว ยังทำให้มีแต่เพิ่มความเข้าอกเข้าใจในรากเหง้า และตัวตนของเรามากยิ่งขึ้น แต่ทว่าตลอดเส้นทางที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ที่เรารู้และศึกษา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประวัติศาสตร์ตามตำรา ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยใครก็คงไม่ต้องบอก การนำเสนอประวัติศาสตร์ในมุมมองอื่นๆ หรือมิติอื่นๆ กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือแม้แต่เป็น “ของต้องห้าม” ไปโดยปริยาย

ประวัติศาสตร์ทำให้เราเรียนรู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องเจ็บปวดซ้ำซาก คำถามก็คือ เราจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร ถ้าแม้แต่พูดถึงตัวเอง เรายังทำไม่ได้ ป่วยการที่จะคิดไปไกลถึงการวิพากษ์ตนเอง เพราะอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า บ้านนี้เมืองนี้ จึงเกลื่อนกล่นไปด้วยการวิพากษ์คนอื่น คิดแทนคนอื่น ตัดสินคนอื่น และ “คิดไปเอง” ว่าคนอื่นจะต้องดำเนินไปตามการตัดสินความ “ดี-งาม-จริง-ลวง” ของเรา อยู่ร่ำไป...

0 comments: