http://www.thaipost.net/tabloid/220412/55779
22 April 2555
เวลาเราพูดถึงความบ้าอำนาจ เราไม่ได้มองแต่เฉพาะบุคคลหรือดูว่าเป็นคุณทักษิณอย่างเดียว เรามีผู้ที่บ้าอำนาจในโลกนี้อีกตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคิม จองอิล แม้แต่ฮุน เซน, กัดดาฟี หรือผู้นำของพม่าก็ตาม สมัยอดีตก็มีฮิตเลอร์ มันมีลักษณะร่วมของผู้นำทั่วโลก เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นคุณทักษิณมันคงไม่ใช่...หนังไม่ได้มีเจตนาที่ให้จบ แค่ว่าหนังเป็นเรื่องของการต่อต้านคุณทักษิณ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นหนังเรื่องนี้มันจะอยู่ไม่นาน หนังมันไม่ได้ทำมาเพื่อเฉพาะกิจ แต่มันเป็นหนังที่ต้องการพูดถึงสภาวการณ์ทางสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
...ผม เชื่อว่าคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง อาจจะจำนวนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำที่เขาแยกแยะออก ถ้าเขาเป็นแดงที่มีเหตุผล เป็นแดงที่มีอุดมการณ์จริง แต่ก็อาจจะมีแดงบางกลุ่มที่ฉกฉวยเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองของตัว เอง มันก็อาจจะมีแต่ผมเชื่อว่าแดงส่วนใหญ่ที่มีเหตุผลเขาไม่รับ เพราะมันต้องกลับไปดูเนื้อแท้ของหนังว่าหนังมีเป้าหมายอะไร ถ้าคุณคิดว่าหนังจบประเด็นแค่ว่าจะมาโจมตีทักษิณกับเสื้อแดง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า อย่างนั้นคุณก็ไม่ก้าวข้ามอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างที่คุณเรียกร้องกัน
สังคมเราเป็นสังคมที่ปฏิเสธความจริง และการที่ไม่เสนอความจริงก็เพราะมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากความคลุมเครือจาก ความไม่ชัดเจน ถ้าความจริงปรากฏออกมาก็ไม่สามารถจะชักใยต่อไปได้อีกแล้ว มันไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อีกแล้ว แต่ความคลุมเครือต่างหากที่มันยังถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ ตราบใดที่ความจริงยังไม่ปรากฏมันก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การปลุก ปั่นได้ตลอดเวลา...สังคมมันอยู่กันด้วยความกลัว หนังเรื่องนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าเราอยู่กันด้วยความกลัว คนหลายคนที่เมื่อก่อนเคยคิดอย่างหนึ่ง พอเปลี่ยนขั้วอำนาจวันนี้ก็เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง อุดมการณ์ความคิดตัวเองอยู่ไหนล่ะครับ
เช็กสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) เป็นหนังผีทุนต่ำที่เล่าเรื่องของแม็คเบธ ผู้ลุ่มหลงในอำนาจ และฆ่าใครต่อใครไม่สิ้นสุดเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไป ถือเป็นผลงานที่สะท้อนความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดของเช็กสเปียร์
แต่ด้วยความบังเอิญที่สอดคล้องกับลักษณะผู้นำ (บางคน) และความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทย ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกสั่งห้ามฉาย เพราะเกรงว่าจะสร้างความแตกแยก!!
เรื่องนี้ประเด็นมิใช่แค่หนังเรื่องหนึ่งถูกแบน แต่มันสะท้อนทัศนคติทางการเมืองภายใต้ความกลัวและความหวาดระแวงกันและกัน เพราะไม่อย่างนั้นโปรดิวเซอร์หนังอย่าง มานิต ศรีวานิชภูมิ คงไม่ถูกกรรมการเซ็นเซอร์ตั้งคำถามว่า คุณอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือ?
บ้านเมืองนี้หนี 'ความจริง'
ล่าสุดเห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะให้คำตอบอีกครั้งวันที่ 25 เม.ย.นี้ หลังจากได้ยื่นอุทธรณ์ไป
“เราก็อยากให้หนังได้ฉาย อยากให้ทุกคนได้ดู เพื่อจะได้ให้สังคมพิสูจน์ จะได้ดูกันว่าในแง่ของข้อกล่าวหามันจริงอย่างที่กล่าวหากันขนาดนั้นหรือ เปล่า ผมคิดว่าข้อกล่าวหามันรุนแรง และก็มันไม่มีรายละเอียดของข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการตัดสินอย่างนั้น คือถ้าบอกว่าหนังสร้างความแตกแยก ผมคิดว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้มันยิ่งกว่าอีก สิ่งที่คุณพูดกันในสภาฯ ถ่ายทอดออกไปทั่วประเทศ หรือแม้แต่วิทยุชุมชน โอ้โหหาความจริงไม่ได้เลย เปิดกัน 24 ชั่วโมงไม่มีใครไปตรวจสอบ ปล่อยให้เอาความเท็จมาพูดกันจนกระทั่งเราไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงบ้าง ขณะที่หนังของเรามันเป็นเรื่องของศีลธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศของขุนพล ตัวละครมันไม่น่าจะไปทำให้เกิดการแตกแยกได้”
แม้อิงต้นฉบับบทละครแม็คเบธ แต่ดูเหมือนจะเป็นการตีความใหม่ผ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทย
“เราเอาบทละครนี้มาร้อยเปอร์เซ็นเลยนะครับ ยังคงไว้ตามตัวบททั้งภาษา ลีลาการพูด และถ้อยคำประโยค เปลี่ยนแต่เฉพาะชื่อตัวแสดง ตัวละครต่างๆ เราเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อไทยให้มันพอเรียกเข้าใจง่าย และชื่อประเทศก็เป็นประเทศสมมติ ทุกอย่างก็สมมติหมด ก็ไม่ได้ชื่อประเทศไทยและก็ไม่ได้บอกว่าเป็นหนังประวัติศาสตร์ไทย คือผู้ชมก็ต้องแยกแยะอยู่แล้ว และถ้ามีบางส่วนที่มีเค้าโครงที่มันไปละม้ายเหมือนกับเหตุการณ์ในเมืองไทยใน บ้านเรามันก็เป็นภาพยนตร์ มันไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านั้นคือข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นคนดูต้องแยกแยะ นั่นเป็นเรื่องที่หนึ่ง ส่วนที่ว่าบางส่วนที่มันดูว่ามันเค้าโครงมาจากเหตุการณ์การเมืองก็ตรงนั้น เราคงได้เป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่ากรณีเอาภาพ 6 ตุลา มาใส่เป็นส่วนหนึ่ง เราต้องการให้มันเป็นบทเรียน เราดูว่ากรณี 6 ตุลา เกิดจากการปลุกปั่นใส่ความใส่ร้ายกันและกัน และทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน ประชาชนก็กลายเป็นเหยื่อทางการเมืองของการแย่งชิงอำนาจกัน ซึ่งอันนี้เราก็คิดว่าบทเรียน 6 ตุลา แม้ในวันนี้ยังไม่มีใครออกมายืนยันความถูกต้องของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนหนึ่งของคณะกรรมการก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ด้วยว่าประวัติศาสตร์นี้มัน ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่สาระสำคัญของประวัติศาสตร์นี้ก็คือว่าประชาชนถูกปลุกปั่นให้มาฆ่ากัน เราปฏิเสธมันไม่ได้”
การใส่ฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาเข้าไปในหนัง มานิตบอกว่าเพื่อต้องการให้คนไทยมองย้อนถึงภาวะความขัดแย้งทางอุดมการณ์จนทำ ร้ายอีกฝ่ายประหนึ่งว่ามิได้เป็นมนุษย์เหมือนกัน
“เราต้องการให้เห็นว่าเรามีตัวอย่างมาแล้วจาก 6 ตุลา เพราะฉะนั้นภาพนั้นก็คือเราไปเน้นที่ภาพต้นแบบ ซึ่งเป็นภาพถ่ายของสำนักข่าวเอพี ที่แสดงให้เห็นถึงชายคนหนึ่งกำลังใช้เก้าอี้ฟาดศพนักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกแขวน คออยู่ แล้วก็มีผู้ชมกำลังยืนชมภาพนั้นด้วยความสนุกสนาน เราต้องการให้คนตระหนักกลับมาคิดดู หนังไม่ได้เน้นความรุนแรงของการตีกันฆ่ากัน แต่หนังจะมาจับเอาที่อารมณ์สีหน้าของผู้ที่เป็นพวกไทยมุง ผู้ที่ยืนดูด้วยการหัวเราะ ส่งเสียงเชียร์ ยืนดูสูบบุหรี่ แสดงสีหน้าด้วยความสนุกสนาน ราวกับเขากำลังดูความบันเทิงอย่างหนึ่ง”
สะท้อนการเมืองยุคนั้นที่ถูกปลุกปั่นว่าฆ่าอีกฝ่ายไม่ผิด
“ทำให้เราต้องกลับไปคิดว่าอะไรทำให้คนถึงกับลุกขึ้นฆ่ากัน โดยที่เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่คน อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะสะท้อน สิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมามันก็เหมือนจะเป็นแบบนั้น มันมาถึงจุดที่เราลุกขึ้นมาฆ่ากันโดยที่เราเห็นอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์ เราสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เป็นความเศร้าที่เราเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ในฉากนั้นกล้องจะจับไปที่อารมณ์สีหน้า และเราอยากให้คนดูที่ดูหนังอยู่ตั้งคำถาม และดูแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียนว่าคนเหล่านั้นยืนดูความโหดร้ายอย่างนี้ได้ อย่างไร ทำไมบางคนสามารถที่จะส่งเสียงเชียร์ด้วยความสะใจ ผมว่าอันนี้มันก็เป็นประเด็นที่ผมอยากจะเน้นใน scene ตรงนั้น”
“คณะกรรมการเซ็นเซอร์ให้เหตุผลว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลายังคลุมเครือ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ และบังเอิญว่ากลุ่มที่เป็นชายอันธพาลที่มาทำร้ายคณะละครที่ล้อเลียนท่านผู้ นำประเทศสมมติ คณะละครที่เอาเรื่องของแมคเบธมาเล่น เป็นเรื่องของขุนพลที่เต็มไปด้วยความโลภ มีความทะเยอทะยาน ตัดสินใจฆ่ากษัตริย์ ด้วยคำทำนายของแม่มดที่บอกว่าจะได้เป็นกษัตริย์ ตัวเองก็ถึงกับตัดสินใจด้วยความโลภ ตัดสินใจด้วยความอยากความกระหายก็เลยไปปลงพระชนม์ คณะละครที่ทำล้อก็ถูกกลุ่มอันธพาลซึ่งเป็นสมุนของท่านผู้นำ เข้าไปลากผู้กำกับละครมาทุบตีเหมือนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา และก็มีผู้ที่เข้ามาร่วมด้วยโพกผ้าแดงวิ่งเข้ามาทำร้ายผู้ชมละคร ร่วมกันส่งเสียงเชียร์ในการทุบตีผู้กำกับละคร มันก็เป็นความโหดร้าย เพราะว่าละครบังอาจมาล้อเลียนท่านผู้นำ มันก็เลยเกิดเหตุการณ์โศกสลดอันนี้”
พอหนังพูดถึงผู้นำที่กระหายอำนาจหรือมีคำว่าทรราช ก็ทำให้คนคิดว่าสื่อถึงคุณทักษิณ
“ตอนที่เราทำเราไม่ได้เน้นว่าจะต้องเป็นคุณทักษิณ คือเรามองว่าเรื่องของแมคเบธมันมีความน่าสนใจ มันมีความพ้องจองกับบริบทการเมืองไทย แต่เวลาเราพูดถึงความบ้าอำนาจ เราไม่ได้มองแต่เฉพาะบุคคลหรือดูว่าเป็นคุณทักษิณอย่างเดียว เรามีผู้ที่บ้าอำนาจในโลกนี้อีกตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคิม จองอิล แม้แต่ฮุน เซน กัดดาฟี หรือผู้นำของพม่าก็ตาม สมัยอดีตก็มีฮิตเลอร์ ผู้นำแบบนี้ที่เราเห็นที่มีลักษณะนี้ คือมันมีลักษณะร่วมนะผู้นำทั่วโลกมีลักษณะร่วมแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นคุณทักษิณมันคงไม่ใช่ แต่ละประเทศถ้าดูหนังเรื่องนี้ก็จะคิดไปถึงผู้นำที่ตัวเองเคยประสบมา บางคนก็จะนึกถึงอันธพาลในหมู่บ้านหรือว่าผู้มีอิทธิพลมาเฟียในชุมชนของตัว เอง ดังนั้นหนังก็ไม่ได้มีเจตนาที่ให้จบแค่ว่าหนังเป็นเรื่องของการต่อต้านคุณ ทักษิณ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นหนังเรื่องนี้มันจะอยู่ไม่นาน หนังมันไม่ได้ทำมาเพื่อเฉพาะกิจ แต่มันเป็นหนังที่ต้องการพูดถึงสภาวการณ์ทางสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เราอยากให้หนังมันเป็นบทเรียนให้เป็นเรื่องที่มีการศึกษากัน ถ้ามันจบแค่คุณทักษิณเสื้อแดงมันก็จบเลยครับ หนังมันไม่มีอายุหรอก
แต่ลองคิดดูว่าบทประพันธ์นี้อยู่มาได้อย่างไร 400 ปี แสดงว่ามันจะต้องสามารถถอดเอาบางอย่างที่ให้เห็นว่าลักษณะบุคลิกอย่างนี้มัน เป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็จะมีคนแบบนี้เกิดขึ้น ในสังคมในชุมชน เชคสเปียร์มีความเข้าใจในมนุษย์มาก สามารถจะถอดความเป็นมนุษย์มาเป็นบทละครได้ และเขาก็ชี้ให้เห็นว่ามันเป็นโศกนาฏกรรม ที่เรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมแมคเบธก็เพราะว่าในท้ายที่สุดความโลภความกระหาย มันก็พาให้ตัวแมคเบธประสบชะตากรรมและในที่สุดก็ต้องถูกฆ่า และบังเอิญในหนังของเราในท้ายของเรื่องแมคเบธในโรงละครถูกฆ่า แต่ว่าในโลกความเป็นจริงมันยังมีชีวิตอยู่นะ เขาก็ยังมีตัวตนอยู่”
เป็นละครซ้อนละคร
“ใช่ เราฆ่าคนเหล่านี้ได้แต่ในโรงละคร แต่ในโลกความเป็นจริงคนเหล่านี้ก็ยังมีชีวิต ยังลอยนวลอยู่ คือมันอุทาหรณ์เป็นเรื่องชวนให้คิด”
ฟังอย่างนี้หากปล่อยให้ฉาย คนดูก็น่าจะมีวุฒิภาวะพอที่จะตีความได้
“คนไทยก็ควรจะได้ดูและก็ตีความศึกษาทำความเข้าใจ และไม่ควรจะปิดกั้น เพราะเหมือนอย่างที่เชคสเปียร์พูด เมื่อดูละครแล้วก็ย้อนดูตน เราอยากให้มันเป็นเครื่องเตือนสติ”
เป็นไปได้ว่าบรรยากาศการเมืองที่กำลังปลุกกระแสปรองดองเป็นข้ออ้างที่กรรมการเซ็นเซอร์ยกขึ้นมาว่าจะสร้างความแตกแยก
“ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าคิดว่าหนังเรื่องนี้ที่พูดถึงเรื่องคุณงามความดี ศีลธรรมมันทำให้เกิดความแตกแยก ก็ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นความปรองดองมันจะตั้งอยู่บนอะไร ถ้าเราไม่ตั้งอยู่บนคุณงามความดีและศีลธรรม ศีลธรรมไม่ใช่เหรอที่จะทำให้สังคมนี้สงบ คุณงามความดีไม่ใช่เหรอที่จะทำให้สังคมนี้สันติ ถ้าอย่างนั้นเราจะอยู่กันท่ามกลางการปรองดองด้วยอะไร ถ้าไม่ด้วยอำนาจการกดขี่ข่มเหง ก็แสดงว่าเป็นสังคมปรองดองจอมปลอม เพราะว่าศีลธรรมและคุณธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์มันอยู่เป็น ปกติสุข คนเราไม่ฆ่ากันไม่เบียดเบียนกัน ศีลธรรมมันเป็นพื้นฐานที่กำกับมนุษย์ให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะเป็นปกติได้อย่างไร คุณจะปล่อยให้สังคมอยู่กันด้วยการโกหก การใช้อำนาจบาตรใหญ่ ถามว่าอันนั้นคือการปรองดองเหรอ ถ้าเราไม่สามารถอยู่กันด้วยวิธีการแบบนี้ได้ สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เรียกว่าการปรองดองหรอกครับ มันเป็นการโหกตัวเอง”
ไม่ได้วิตกว่าถ้าหนังเรื่องนี้ฉายแล้วจะสร้างความโกรธแค้นให้กับคนเสื้อแดง
“ผม บอกได้เลยว่ากรณีการใช้สีแดงมันไม่ได้หมายถึงคนเสื้อแดงนะครับ เป็นสีสัญลักษณ์ในการทำภาพยนตร์ เป็นภาษาทางศิลปะ ซึ่งละครเชคสเปียร์ตั้งแต่มีการแสดงกันมามีนักวิจารณ์สรุปมาเลยว่าสีของละคร ของแมคเบธก็คือสีดำและสีแดง มันเป็นสัญลักษณ์ของสี คุณก็ตีความได้สีดำคืออะไร สีดำอาจจะแปลว่ายุคมืด ความมืด หรือความไม่รู้ สีแดงคือความรุนแรง หรือความโลภ หรือความกระหาย เพราะฉะนั้น 2 สีนี้เป็นสีหลักในการสร้างภาพยนตร์ของเรา เราเพิ่มเข้าไปอีกสีหนึ่งก็คือสีทอง คือสีของอำนาจ”
สีทองก็คือเหลือง ซึ่งถูกแปลความได้อีก
“สำหรับเราคือสัญลักษณ์ของอำนาจ เวลาดูหนังมันต้องดูด้วยการปล่อยวาง ถ้าดูหนังว่าเฮ้ยนี่มันด่าเราหรือเปล่า อย่าไปดูเลย เพราะถ้าไปดูหนังด้วยการตั้งแง่ว่าจะไปจับผิดมันไม่มีประโยชน์ เพราะหนึ่งคุณจะดูหนังไม่สนุก สองคุณจะดูไปด้วยอคติแล้วจิตใจก็จะไม่เปิดรับ ตั้งแง่อย่างนี้มันก็จบในทุกเรื่อง”
วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองจะกระทบความรู้สึกคนเสื้อแดงมาก ซึ่งในหนังก็มีฉากนี้ด้วย
"ประเด็นก็คือว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ข้างนอกที่ไม่ได้อยู่ในหนัง มันเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร วาทกรรมเรื่องเผาบ้านเผาเมืองก็ยังถูกใช้กันอยู่, 91 ศพก็ยังถูกใช้กันอยู่, วาทกรรมอำมาตย์-ไพร่ก็ยังใช้กันอยู่ มันจบที่ไหนล่ะครับวาทกรรมเหล่านี้ ยังใช้กันเขียนกันพูดกัน ถามว่าแล้วเทียบกันในหนังมันห่างไกลมาก เพราะวัตถุประสงค์ของหนังไม่ใช่เรื่องนั้น ผมอยากจะบอกว่าถ้าจะคิดแบบนั้น มันมีเรื่องให้คุณประท้วงเยอะแยะเลย มันไม่จบ แต่สิ่งที่เรากำลังชี้ให้เห็นคือว่า หนังเรื่องนี้เราไม่ได้พูดว่าจะเป็นการโค่นล้มระบอบใดระบอบหนึ่ง อย่างที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์บางท่านถามว่า หนังเรื่องนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองใช่ไหม ถามทั้งๆ ที่ท่านดูหนังเรื่องนี้ 3 รอบ ผมต้องถามว่าท่านดูอย่างไร ท่านเห็นประโยคไหนไหมที่พูดถึงเรื่องระบอบการปกครอง หรือต้องการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีคำไหนที่ชี้ให้เป็นแบบนั้นไหม หยิบมาพูดกัน อย่าพูดโดยการที่ไปเอาคำพูดคนอื่นมาแล้วไม่ได้เห็นเอง ทั้งๆ ที่ดูเองด้วยนะแต่กลับไม่คิดเอง อย่าแค่ว่าเห็นใครใส่อะไรแดงๆ ไม่ได้แล้วนี่เขาต้องดูถูกเราแน่เลย ต้องเพลาๆ หน่อยความบ้าคลั่งสีทั้งหลาย บ้าคลั่งลัทธิอุดมการณ์ทั้งหลาย มันบ้าคลั่งกันจนไม่ฟังเหตุผลแล้ว”
การปฏิเสธความจริง มันสะท้อนสังคมไทยที่ไม่เคยถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ความขัดแย้งตั้งแต่ 14 ตุลา/ 6 ตุลา/ พฤษภาทมิฬ มาจนถึงเหตุการณ์นองเลือดครั้งล่าสุด
"สิ่งนี้คือสิ่งที่เราเห็นเลยว่าคือการปฏิเสธ สังคมไทยอยู่ในภาวะของการปฏิเสธ คือเราไม่ฟังอะไรเลย เราปฏิเสธอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นเลยว่า ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็แล้วแต่ก็จะปฏิเสธและก็ไม่พร้อมที่จะเอาความจริงมาพูดกัน เหตุที่ยังต้องปฏิเสธกันอยู่ เพราะว่ามีผู้ที่ได้ประโยชน์จากการปฏิเสธนั้น ผมถามว่าคนเสื้อแดงที่สูญเสีย เขาอยากทราบความจริงไหมว่าใครคือคนที่ฆ่าลูกหลานพี่น้องของเขา แต่คนที่ปฏิเสธกลับเป็นรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ความจริงออกมา ญาติผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่จะเรียกว่าเผาบ้านเผาเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คนเสื้อแดงเสียชีวิตไป 91 ศพ เรียกร้องให้รัฐบาลก่อนจะปรองดองให้เอาความจริงออกมา แต่ฝ่ายไหนล่ะครับที่ไม่ต้องการเอาความจริงออกมา กลับบอกว่าไม่เป็นไรพี่น้องเสื้อแดงต้องเสียสละ แล้วก็ลืมๆ มันไป เราต้องเข้าสู่โหมดการปรองดอง
หมายความว่าไม่มีใครสนใจความจริงแล้วใช่ไหม การปรองดองไม่ยืนอยู่บนความเป็นจริง ถ้ามันไม่มีความจริงไม่มี truth การปรองดองมันจะเกิดได้เหรอ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนในโลก การจะปรองดองกันได้ความจริงต้องปรากฏ จะเจ็บปวดแค่ไหนเราต้องก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้นไปด้วยกัน มนุษย์มันมีความผิดพลาดได้ ไม่ว่าฝ่ายไหนสีไหนมันผิดพลาดได้ เมื่อเรายอมรับความผิดพลาดแล้วเราให้อภัย แล้วเราก็จะมาตกลงกันว่าเราจะก้าวข้ามความผิดอันนั้น แต่ถ้าเรายังมีอัตตา เรายังมีผลประโยชน์ที่เราต้องการจากการปฏิเสธความจริงนั้น ความปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้น ความปรองดองจะเกิดขึ้นบนความเท็จไม่ได้
และสิ่งที่หนังเรื่องนี้โดนกระทำก็คือว่า คณะกรรมการฯ ปฏิเสธความจริง 6 ตุลาเขาก็ปฏิเสธ และไม่ต้องการให้ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาเข้ามาฉายในภาพยนตร์ไทย แต่ภาพเดียวกันนี้ในหนังผีทำได้นะครับ มหา’ลัยสยองขวัญ กลับสร้างเป็นหนังผีหลอกเด็กได้ ใช้ภาพเดียวกัน และอย่าลืมว่าของผมนี่เป็นประเทศสมมติ แต่หนังผีนั่นในประเทศไทยนะครับ คุณก็ยังปล่อยให้มาสร้างหนังผีหลอกเด็กเอาเงินได้ ในเรื่องหนึ่งเรากลับให้เป็นเรื่องโกหกพกลมกัน แต่ว่าสิ่งที่เรากำลังหวังดี เอา 6 ตุลามาเป็นเค้าโครงเพื่อความหวังดี อยากให้สังคมไทยได้คิดได้มีสติ เรากลับไม่ยอมรับ”
อดไม่ได้ที่จะนึกย้อนไปถึงความพยายามที่จะร่างหลักสูตร 14 ตุลาให้เด็กไทยได้เรียนรู้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เห็น
"ผมถามว่า ณ วันนี้ ประวัติศาสตร์นั้นฝ่ายที่เคยนั่งอยู่ในรัฐบาล ตั้งแต่ไทยรักไทยมาก็มีกลุ่มทั้งที่เป็นแกนนำ 14 ตุลา 6 ตุลา ก็ไม่เคยคิดจะชำระประวัติศาสตร์นั้น เวลาตัวเองมีอำนาจก็ไม่เคยคิดที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ที่ตัวเองได้เคยใช้มัน มาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองก้าวสู่อำนาจได้ อันนี้ก็จะเห็นเลยว่ากรณี 19 พ.ค.ที่จะครบ 2 ปีแล้ว มันยังไม่มีความคืบหน้าของความจริง ฝ่ายที่เรียกร้องให้เกิดความจริงกลับถูกฝ่ายที่ได้ประโยชน์ทางการเมืองไม่ ให้ความจริงปรากฏ มันเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันแรงๆ แกนนำเสื้อแดงซึ่งเรียกร้องมาตลอดตอนสมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ วันนี้ตัวเองได้มาเป็นฝ่ายที่มีอำนาจกลับปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ก้าวข้ามไป อันนี้มันเห็นชัด ผมถึงบอกว่าสังคมเราเป็นสังคมที่ปฏิเสธความจริง และการที่ไม่เสนอความจริงก็เพราะมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากความคลุมเครือจาก ความไม่ชัดเจน ถ้าความจริงปรากฏออกมาก็ไม่สามารถจะชักใยต่อไปได้อีกแล้ว มันไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อีกแล้ว แต่ความคลุมเครือต่างหากที่มันยังถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ ตราบใดที่ความจริงยังไม่ปรากฏ มันก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การปลุกปั่นได้ตลอดเวลา”
หนังเช็ก สเปียร์ต้องตายถูกห้ามฉาย อีกด้านหนึ่งกลับเกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมาย และดูจะย้อนแย้งอยู่พอสมควร นั่นคือคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่ร่วมคัดค้านคำสั่งของคณะกรรมการเซ็นเซอร์
"กลุ่มเสื้อแดงเองเขาก็ไม่พอใจนะครับ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Radical Red เป็นแบบว่าสุดโต่ง เขาก็รับไม่ได้กับการมาเซ็นเซอร์ เพราะเขาไม่คิดว่านี่คือประชาธิปไตยอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งเขาก็ได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลที่เขาเลือกมาก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้วสิ อาจจะไม่ใช่กลุ่มที่พวกเขาตั้งความหวังเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าหนังเรื่องนี้ สิ่งที่สมานฉันท์ร่วมกันก็คือเขาต้องการเสรีภาพ อันนี้คือการปรองดองอย่างแท้จริง หนังเรากลายเป็นจุดที่ทำให้คนกลับมานั่งคิดฉุกคิดว่า ไอ้ที่อ้างเรื่องการปรองดองของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ มันจะเป็นปรองดองอันเดียวกับรัฐบาลหรือเปล่า จะเป็นอะไรกันแน่ กลายเป็นว่าหนังเรานำไปสู่การถกเถียงและตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงที่พวกเขากำลังเรียกร้องมันคืออะไร”
เห็นได้ว่าคนไทยมีวุฒิภาวะขึ้น ไม่ว่าฝ่ายไหนก็พอจะแยกแยะประเด็น-วาระได้
"ผม เชื่อว่าคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง อาจจะจำนวนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำที่คิดว่าเขาแยกแยะออก ถ้าเขาเป็นแดงที่มีเหตุผล ถ้าเขาเป็นแดงที่มีอุดมการณ์จริง แต่ก็อาจจะมีแดงบางกลุ่มที่ฉกฉวยเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองของตัว เอง มันก็อาจจะมี แต่ผมเชื่อว่าแดงส่วนใหญ่ที่มีเหตุผลเขาไม่รับ เพราะมันต้องกลับไปดูเนื้อแท้ของหนังว่าหนังมีเป้าหมายอะไร ถ้าคุณคิดว่าหนังนี้จบประเด็นแค่ว่าจะมาโจมตีทักษิณกับเสื้อแดง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ถ้าอย่างนั้นคุณก็ไม่ก้าวข้ามอะไรสักอย่างหนึ่งอย่างที่คุณเรียกร้อง ผมกำลังบอกว่าเราต้องก้าวข้ามความมัวเมาในลัทธิต่างๆ ความเชื่ออะไรต่างๆ แล้วกลับมาดูว่าในท้ายที่สุด มนุษย์เรามันก็หนีไม่พ้นหรอกครับ รัก โลภ โกรธ หลง มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเชื่อในลัทธิประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือประชาธิปไตยที่อาจจะไม่มีประมุขเป็นกษัตริย์ หรืออาจจะเป็นประธานาธิบดี อะไรก็แล้วแต่ที่พวกคุณอยากจะให้มันเป็น มันไม่พ้นหรอกครับมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ นักการเมือง ตัวเราเองเราก็ยังรัก โลภ โกรธ หลง"
เสรีภาพจอมปลอม
"พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของมันก็คือ ต้องการประกันสิทธิเสรีภาพของผู้สร้างภาพยนตร์ การแบนนี่มันไม่ใช่การประกันสิทธิเสรีภาพนะ มันขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์แบบนั้น มันจึงมีการจัดเรต ถ้าหนังไหนล่อแหลมก็จัดเรตสูงหน่อย ให้การเข้าถึงของกลุ่มคนมันน้อย หรือให้คนมีวุฒิภาวะในระดับหนึ่ง ถ้าเป็นเรตแย่สุดก็คือ 20 สำหรับผู้ใหญ่ ต้องมองอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่า โอ้ยมันมีแบนแล้วก็ต้องแบน เพราะการแบนมันเป็นมรดกของเผด็จการที่มันยังถูกฝังอยู่ แล้วประเทศไทยมันมีกฎหมายมากมายนะครับ ที่หลายมาตราไม่เคยใช้เลยและเราไม่เคยรู้จักด้วยซ้ำ เรตแบนแม้จะมีปรากฏอยู่ในกฎหมาย แต่ไม่ต้องใช้ก็ได้ มันไม่ทำให้คุณต้องติดคุกนะถ้าไม่ใช้ มันเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้อำนาจ แต่วันนี้ดุลยพินิจของผู้ใช้อำนาจเขาไม่มี เขาตัดสินทุกอย่างด้วยความกลัว เขากลัวไปเกินเหตุ กลัวว่าจะเกิดการปลุกปั่นเกิดความแตกแยก ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ สมัยก่อนเวลาประท้วงกัน ขอคุ้มครองฉุกเฉินห้ามอย่างโน้นอย่างนี้ ศาลยังบอกเลยว่านั่นเป็นการคาดเดา ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้”
คงไม่ถึงขนาดว่าดูหนังจบแล้วไปนัดชุมนุม
"ถ้าเกิดจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่พอใจหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับหนังผู้สร้างหนังก็ต้องไปเผชิญหน้า ไม่ใช่กรรมการเซ็นเซอร์นะ กรรมการฯ ไม่ได้เจอนะ ผมต่างหากที่ต้องเจอ แต่เขาก็บอก โอ้ยผมเป็นผู้อนุญาตผมก็ต้องโดนอีก ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าอย่างไร ตัดสินทุกอย่างกันด้วยความกลัวเหรอ สังคมมันอยู่กันด้วยความกลัว หนังเรื่องนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าเราอยู่กันด้วยความกลัว ฉะนั้นการแสดงละครก็คือการแสดงที่ต้องการใช้ศิลปะเพื่อจะต่อต้านทรราช ทรราชของเราก็คือการใช้อำนาจและความกลัว ทุกวันนี้เราอยู่กันด้วยความกลัวใช่หรือไม่ คนหลายคนที่เมื่อก่อนเคยคิดอย่างหนึ่ง พอเปลี่ยนขั้วอำนาจวันนี้ก็เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง อุดมการณ์ความคิดตัวเองอยู่ไหนล่ะครับ ถ้าสิ่งเหล่านี้เราไม่เรียกว่าความกลัว มันกลายเป็นสังคมที่ใช้ self censorship รุนแรงมาก ทุกวงการทั้งสื่อทั้งผู้คน หลายคนนั่งแท็กซี่ก็ไม่พูดคุยกันเพราะไม่รู้ว่าฝ่ายไหน พูดไปแล้วเดี๋ยวก็จะกลายเป็นประเด็น”
ย้อนกลับไปดูคำตัดสินของกรรมการเซ็นเซอร์ มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็น "แสงศตวรรษ" ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ Insects in the backyard ที่ผู้กำกับร้องไปที่ศาลปกครอง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
"ผมว่ามันแล้วแต่กรณีนะ สำหรับเรื่องนี้มันไม่มีลามกอนาจารและก็ไม่มีหมิ่นประมาทใคร ซึ่งทำให้กรรมการฯ ไม่สามารถจะชี้ได้ว่าตรงไหนที่ควรจะตัดออก ผมก็ถามเขาว่าจะให้ปรับตรงไหน กรรมการฯเขาก็บอกว่าให้คุณเอาไปปรับปรุง ผมบอกแล้วปรับปรุงตรงไหนล่ะครับ-ก็คิดเอาเอง คือพูดอย่างนี้ได้ไง ในแต่ละฉากที่เขาพูดว่าสงสัยการตีความ เราได้อธิบายจนหมดจด แล้วผมก็เลยถามว่าตกลงจะเอาไงครับจะให้ตัดหรือจะให้เบลอ อ้อไม่ๆๆๆ ไม่ใช่ต้องให้ทำแบบนั้น แต่ไม่มีเสนอทางออกอะไร เขาบอกให้ผมถอนหนังออกไปแล้วไปปรับปรุง แล้วจะให้ปรับปรุงอย่างไรล่ะครับ ผมก็ต้องยืนยันเพราะผมเชื่อว่าผมงานมาเต็มร้อย ดีที่สุด”
ดูจากกรรมการที่ลงมติ 4 คน ส่วนอีก 3 คนไม่ลงชื่อ ก็เห็นชัดว่าได้มีการถกเถียงกันพอสมควร
"เขาถกเถียงกันอยู่ก็คือว่าคะแนนก้ำกึ่ง ประธานก็เลยเป็นฝ่ายที่จะต้องโหวต ผมบอกได้เลยว่าหนังเป็นสื่อเดียว ณ ขณะนี้ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด เพราะมันมีกฎหมายนี้ สื่ออื่นยังเสรีมาก เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน จะอีกกี่ปีไม่รู้ที่ต้องคืนคลื่นให้ กสทช. ประชาชนก็ต้องทนฟังเรื่องโกหกต่อไป แต่ภาพยนตร์ยังตกอยู่ในกรอบการกดขี่ มันยังไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเราจะหวังได้อย่างไรที่จะให้หนังไทยแข็งแรง เมื่อเรามีคณะกรรมการเซ็นเซอร์ที่มีทัศนคติแบบนี้ ทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการสร้างสรรค์ หนังไทยมันอ่อนแอ หนังไทยมันล้มลุกคลุกคลาน ผมว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าเซ็นเซอร์มีส่วน มีเนื้อหาอีกมากมายที่ไม่สามารถทำหนังได้เพราะเซ็นเซอร์ไม่ให้ผ่าน กรรมการเซ็นเซอร์ยังอยู่ในยุคของ พ.ร.บ.ฉบับเก่า แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่มันก้าวล้ำหน้าความคิดของกรรมการเซ็นเซอร์ไปแล้ว เขายังปรับตัวไม่ทัน กฎหมายมันไปล้ำกว่าแล้ว เซ็นเซอร์ไม่เข้าใจกฎหมายว่าตัวเองมาทำหน้าที่อะไร”
ตอนประกาศ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ปี 2551 จำได้ว่าคนดูหนังตื่นเต้นดีใจว่าเมื่อมีระบบจัดเรตหนังแล้ว เท่ากับเปิดกว้างให้มี "เสรีภาพ" ทั้งผู้สร้างและคนเสพ
"ใช่ และกรณีที่เกิดขึ้นก็คือมีผู้เข้าร่วมคัดค้านกับผม 500 กว่าคน นอกจากนักวิชาการ นักศึกษา คนทำหนังคนทำงานศิลปะก็ยังมีชาวบ้าน เพราะเขารับไม่ได้กับการดูถูกสติปัญญาของคนดู คุณอย่าดูถูกประชาชน อย่าคิดว่าประชาชนแยกแยะไม่ออกระหว่างภาพยนตร์กับเรื่องจริง เราต้องไว้ใจประชาชน คือคำถามที่กรรมการเซ็นเซอร์ถาม คุณคิดว่าชาวบ้านเขาจะรู้เหรอระหว่างหนังกับความจริง? เขาแยกออกไหม? ผมบอกผมต้องเชื่อว่าเขาแยกออก แต่เซ็นเซอร์บอกเขาแยกไม่ออกหรอก ถ้าอย่างนั้นผมอยากจะถามคุณว่า ประชาชนคนไทยรู้จักประชาธิปไตยไหม หรือว่าคนไทยไม่ควรจะมีประชาธิปไตย เพราะว่าคนไทยยังโง่อยู่ ก็ไม่ควรจะมีการปฏิวัติ 2475 เรามีประชาธิปไตยเร็วไป เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราควรจะเอาประชาธิปไตยให้ประชาชนไปเลย หรือรอประชาชนให้เขาเรียนรู้แล้วฉลาดค่อยเอาประชาธิปไตยไปให้ มันควรจะเป็นแบบไหน กระบวนการแบบนี้มันเป็นการเรียนรู้กันทั้งสังคม มันไม่มีหรอกครับที่จะมาบอกว่า ประชาชนทุกคนจบปริญญาเอกก่อนนะแล้วค่อยมีประชาธิปไตย แต่วิธีคิดของคนเหล่านี้ก็ยังเป็นลักษณะจากบนลงล่าง ประชาชนคิดไม่เป็น ฉันต้องตัดสินให้ แล้ววันนี้ประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกมา เขาจะพอใจเหรอครับ ถ้าเป็นวาทกรรมของคนเสื้อแดงก็คือคิดแบบอำมาตย์ คิดแบบรู้ดี คนเสื้อแดงรับได้เหรอที่มาปกครองเขาแบบนี้ ผมกล้าพูดได้เลยว่าคนเสื้อแดงรับไม่ได้ ที่มาดูถูกเขาอย่างนี้ว่าเขาแยกแยะไม่ออก”
เพราะได้ทุนสนับสนุนจากโครงการไทยเข้มแข็งยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เลยทำให้มานิต รวมถึงอิ๋ง-สมานรัชฎร์ กาญจนะวณิชย์ ในฐานะผู้กำกับ ถูกตั้งคำถามว่าเป็นเครื่องมือสร้างหนังชวนเชื่อให้กับฝ่ายอำมาตย์ แต่ถ้าจำกันได้มานิตนี่แหละ คือหนึ่งในแกนนำผู้กำกับที่ประท้วงรัฐบาล ปชป. เพราะเห็นว่าให้ทุนกับหนังใหญ่มากเกินไป
"มีคนพยายามตั้งข้อสังเกตลักษณะนั้นในแง่ลบ หาว่าเราเป็นเครื่องมือของประชาธิปัตย์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือเปล่า โถ..ตอนที่ไปขอทุนก็เกือบจะไม่ได้อยู่แล้ว เราเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาอนุมัติเงิน และประเด็นที่ถูกตั้งคำถามก็คือ ฉากปลงพระชนม์พระราชา เราก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเรายึดตามตัวบทละครเลยนะ ในบทละครไม่มีฉากปลงพระชนม์ให้เห็น มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังม่าน แล้วตัวละครก็จะเดินออกมาพูดหน้าม่านให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น พูดถกเถียงกันถึงด้านมืดด้านสว่าง การลงมือกระทำความเลวร้ายเหล่านั้น ฉากนั้นเราต้องถ่ายทำแล้วให้คณะกรรมการพิจารณาจะให้ทุนดู คณะกรรมการถึงจะยินยอมและก็ดูโครงเรื่องทั้งหมด ก็ให้ภาพในระดับที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วในระดับหนึ่ง แต่หนังมันใช้เวลากว่าจะถ่ายทำตัดต่อ มาติดเรื่องน้ำท่วม ก็มาตกในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถ้าบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมจะไปขอทำไมแค่ 3 ล้าน ทำไมไม่ขอไปเลย 50 ล้าน ถ้าจะรับมาทำอย่างนั้น นี่กระจอกเหลือเกิน 3 ล้าน
ตอนนั้นมีหนังใหญ่ได้รับทุนจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ รวมเป็นเงินแล้วเกือบ 400 ล้าน ทำไมไม่บอกว่าหนังใหญ่นั้นโฆษณาชวนเชื่อล่ะครับ หนังผมนี่รอบแรกตกนะครับ ไม่ได้ทุนนะครับ ต้องไปประท้วง ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อน ผมประท้วงกัน คุณเจ้ย-อภิชาตพงศ์ก็มาร่วมประท้วง เพราะเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม หนังหลายเรื่องที่ไม่ได้รับการส่งเสริม เพราะเขาเห็นว่าเอางบประมาณจำนวนมากไปให้หนังใหญ่แทนที่จะมาสนับสนุนให้ โอกาสผู้กำกับหนังใหม่ๆ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือ และได้สร้างคนใหม่ๆ ขึ้นมา”
มองแบบร้ายสุดถ้า 25 เม.ย.นี้คำสั่งแบนยังอยู่
"ก็ต้องคุยกัน เพราะว่าในเมื่ออ้างว่ารัฐบาลนี้เป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่กระทำมันไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องทำให้ชาวบ้านและก็ชาวโลกได้รู้ว่า มันไม่มีหรอกประชาธิปไตยในรัฐบาลที่คุณกำลังเรียกร้อง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ เราก็มีคนอาสาว่ามาฉายหนังให้ตำรวจจับกันดีกว่า จะได้ประจานชาวโลกไปเลย เหมือนศิลปินจีนอ้ายเหว่ยเหว่ย ทำอย่างนั้นไปเลยดีไหม ให้มันเทียบกันไปเลยว่ารัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทยใครเผด็จการกว่ากัน ก็อยากจะให้กรณีนี้เป็นบทเรียนว่าสิ่งที่คุณบอกว่า ต่อสู้เรียกร้องมาจนได้ประชาธิปไตยแล้ว ในความเป็นจริงเรายังไม่ได้ประชาธิปไตย อย่าเพิ่งชะล่าใจ อย่าเพิ่งประมาท คนที่ได้อำนาจก็มักจะรักษาอำนาจของตัวเอง โดยที่ไม่ได้สนใจหรอกว่าใครคือคนที่เลือกเขามา และนี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องเรียนรู้ในราคาที่แสนแพง"
0 comments:
Post a Comment