3 MIN. READ : ​ย้อนรอย 5 ปี ภาพยนตร์ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ศาลปกครองยืนยันคำสั่งห้ามฉาย

8.19.2017

 



HIGHLIGHTS:

ประเทศไทยมีระดับของการพิจารณาหนังสองแบบ คือ ‘การจัดเรต’ แบ่งประเภทหนังตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุ และ ‘สั่งห้ามฉาย’ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์สามารถสั่งลงโทษขั้นสูงได้ 


ในปี 2555 ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกเรื่อง The Tragedy of Macbeth ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ถูกสั่ง ‘ห้ามฉาย’ เพราะเกรงว่า ภาพยนตร์อาจก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ และบางฉากมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี





          ศาลปกครองเห็นว่ากระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ชอบด้วยกฎหมาย กรณีสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย มีผลให้ยืนยันคำสั่งแบนหนังเรื่องนี้
          ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ผลงานการกำกับของสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และอำนวยการสร้างโดยมานิต ศรีวานิชภูมิ ได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม 
         บทภาพยนตร์แปลและดัดแปลงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกเรื่อง The Tragedy of Macbeth หรือ โศกนาฏกรรมของแมคเบธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ซึ่งสมานรัชฎ์และมานิตจัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้โดยมีภาพเหตุการณ์จำนวนหนึ่งอิงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของไทย
         ด้วยความแปลกของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ทำให้ประเทศไทยมีระดับของการพิจารณาหนังสองแบบ คือ ‘การจัดเรต’ ซึ่งจะจัดความเหมาะสมว่าภาพยนตร์นั้นๆ เหมาะกับคนช่วงอายุใด โดยเฉพาะในกรณีมีฉากเรื่องเพศหรือความรุนแรง แต่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า ‘กองเซ็นเซอร์’ ของไทย ยังสามารถลงดาบสั่งลงโทษขั้นสูง คือสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้ด้วย
         เชคสเปียร์ต้องตาย ถ่ายทำเสร็จเมื่อช่วงต้นปี 2555 ท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นต่อเนื่อง ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีคำสั่ง ‘ห้ามฉาย’ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ระบุว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ซึ่งเมื่อคณะผู้สร้างภาพยนตร์อุทธรณ์คำสั่ง ผลการอุทธรณ์ยังคงเดิม คือยืนยันคำสั่งห้ามฉาย ด้วยเหตุผลว่า “บางฉากยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ”
         ‘บางฉาก’ ที่คณะกรรมการฯ กังวล เช่น มีฉากที่คนดูละครเข้าทำร้ายคณะนักแสดงและจับผู้กำกับแขวนคอ ทุบตีด้วยสิ่งของ ซึ่งมีการนำภาพเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาแทรกไว้ในภาพยนตร์
         อย่างไรก็ดี ผู้สร้างภาพยนตร์ชี้แจงความหมายของฉากความรุนแรงนั้นไว้ในหนังสืออุทธรณ์คำสั่งว่า “หากท่านได้ดูฉากนี้ทั้งฉากในภาพยนตร์เต็ม ท่านจะเห็นว่าทั้งผู้กำกับ ทั้งกล้อง และการตัดต่อ ไม่ได้จับจ้องอยู่ที่ผู้กระทำความรุนแรงและศพที่ถูกแขวนคออยู่ แต่จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าและปฏิกิริยา การแสดงออกถึงความสะใจ บ้าคลั่ง ของกลุ่มคนที่มายืนส่งเสียงเชียร์และหัวร่อต่อความรุนแรงที่บังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเขา”
         เมื่อถูกสั่งเซ็นเซอร์ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 สมานรัชฎ์และมานิตจึงตัดสินใจฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ เพราะกระบวนการพิจารณาไม่ชอบ และยังเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 7,530,388.55 บาท
         มานิตชี้แจงเหตุผลในคำฟ้องว่า กระบวนการพิจารณาไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ผู้สร้างหนังปรับอย่างไรเพื่อให้ได้ฉาย
         “ถ้าใช้ภาพ 6 ตุลาฯ ไม่ได้ ก็ต้องชี้ชัดลงไปเลยว่าใช้ไม่ได้” มานิตกล่าวในเชิงสงสัยต่อท่าทีที่รัฐไทยรับมือกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
         มานิตกล่าวว่า เขาไม่เห็นว่าการนำภาพประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาอยู่ในหนังจะผิดข้อห้ามใด เพราะเป็นภาพความจริงในอดีตที่อยู่ในตำราเรียน อยู่ในคลิปยูทูบที่คนทั่วไปเข้าถึง รวมถึงก็มีภาพยนตร์บางเรื่อง (ล่าสุดคือ ดาวคะนอง) ที่มีฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อยู่ในหนัง 
         นอกจากนี้ เขารู้สึกรับไม่ได้กับตรรกะของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์
        “ตรระกะมันทำให้ผมยอมรับไม่ได้ เช่น คณะกรรมการฯ ชั้นอุทธรณ์ถามว่า ขอให้เปลี่ยนฉากที่ตีกันให้เป็นตากับยายคุยกันได้ไหม เพื่อไม่ให้มีฉากรุนแรง และเพื่อจะได้ไม่ต้องมีฉาก 6 ตุลาฯ” มานิตเล่าถึงการเจรจาในชั้นอุทธรณ์

หนังไทยห้ามฉายในอดีต
         นอกจาก เชคสเปียร์ต้องตาย นับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับปัจจุบัน มีภาพยนตร์ที่ถูกสั่งห้ามฉายอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง คือ Insects in the Backyard ผลงานของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ภาพยนตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่พ่อมีเพศสภาพเป็นหญิง เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกสั่งห้ามฉายเมื่อปี 2553 ด้วยเหตุผลว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี ธัญญ์วารินยื่นฟ้องศาลปกครองเช่นกัน โดยกระบวนการพิจารณาใช้เวลา 5 ปี และศาลก็ยืนยันคำสั่งห้ามฉายเช่นเดิม
         ยังมีกรณีอื่นๆ ที่ภาพยนตร์คลาดแคล้วจากการเซ็นเซอร์ แต่ต้องแลกกับการยอมแก้ไขเนื้อหา เช่น ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) สารคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร ผลงานของนนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งเมื่อปี 2556 คณะกรรมการฯ สั่งห้ามฉาย ระบุเหตุผลว่าบทบรรยายช่วงต้นไม่ถูกต้อง มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ กระทบความมั่นคงของชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น คณะกรรมการฯ ก็เปลี่ยนมติ สั่งให้ดูดเสียงคำบรรยายช่วงต้นออกไป 2 วินาที แล้วจัดเรตให้เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (น 18+) 
         คล้ายกันกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ประชาธิป’ไทย (Paradoxocracy) ผลงานของเป็นเอก รัตนเรือง และภาสกร ประมูลวงศ์ ที่ฉายภาพการเติบโตของประชาธิปไตยกับการเมืองไทย ซึ่งถูกคณะกรรมการฯ สั่งให้ดูดเสียงออกไป 5 จุด 
         อีกกรณีหนึ่งคือภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ ผลงานของขนิษฐ ขวัญอยู่ เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญ บอกเล่าชีวิตวัยรุ่นที่ถูกพ่อแม่บังคับให้บวชเณร เปิดตัวเมื่อปี 2558 และถูกคณะกรรมการฯ สั่งห้ามฉาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นำความเสื่อมเสียมาสู่พุทธศาสนา โดยนำเสนอพฤติกรรมทางลบของพระสงฆ์ ทั้งเรื่องชู้สาว การเสพของมึนเมา การฆาตกรรม และไม่เคารพต่อพระพุทธรูป แต่ต่อมาทีมงานยอมปรับเนื้อหาบางส่วน และยอมเปลี่ยนชื่อจาก อาบัติ เป็น อาปัติ จึงได้รับอนุญาตให้ฉายในเรต น 18+
         สำหรับคนทำภาพยนตร์ สิ่งที่เจ็บปวดใจไม่ใช่เพียงเพราะภาพยนตร์ที่ตัวเองฟูมฟักขึ้นมาอย่างตั้งใจต้องถูกแปะป้ายห้ามฉาย แต่ยังรวมถึงกระบวนการพิจารณาที่เจ้าของหนังซึ่งเป็นคู่กรณี ทั้งในกรณี เชคสเปียร์ต้องตาย และกรณี Insects in the Backyard ไม่มีโอกาสได้ฟังเหตุผลที่ชัดเจน และไม่มีโอกาสได้ชี้แจงหรืออธิบาย รวมถึงแม้อธิบายแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าคนในหน่วยงานรัฐจะเข้าใจการสื่อความในภาษาหนังได้มากน้อยเพียงใด



CR  http://themomentum.co/shakespearemustdie-banned

0 comments: