คุยกับ "มานิต ศรีวานิชภูมิ" โปรดิวเซอร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" ถ้าหนังไม่ได้ฉาย ผมยอมติดคุก!

4.08.2012

 





วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:30:00 น.
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333632164&grpid=01&catid=&subcatid=

เรื่อง...ณัฐกร เวียงอินทร์
หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พิจารณาให้ภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" (Shakespeare Must Die) ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯให้เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยได้รับ "เรต ห"(ห้ามฉาย) หรือพูดง่ายๆ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูก "แบน" ด้วยเหตุผลที่ว่า "มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ"

ประเด็นนี้ก็ให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงเหตุผลที่ของการ "แบน" หนังเรื่องนี้ ว่าเอาเข้าจริงแล้ว เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่?(อ่านรายละเอียดของการ "แบน" ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่ลิ้งก์ข่าว คณะกรรมการเซ็นเซอร์สั่งแบน"เชคสเปียร์ต้องตาย"ติดเรท"ห้ามฉาย" เกรง"ก่อความขัดแย้งในชาติ" )

ทาง "มติชนออนไลน์" จึงติดต่อสัมภาษณ์ มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ เพื่อชี้แจงว่า ตกลงเกิดอะไรขึ้นกับภาพยนตร์ที่เขาสร้างขึ้นมา...

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" จนมาถึงวันนี้ที่ภาพยนตร์โดน "แบน" มีเส้นทางเป็นอย่างไร?

"โครงการนี้เป็นโครงการของคุณสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์(ผู้กำกับภาพยนตร์) เริ่มแปลบทประพันธ์มาตั้งแต่ปี 2551 แล้วพอมาถึงปี 2553 เราก็ได้ทำการผลิตโดยได้งบสนับสนุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง ของกระทรวงวัฒนธรรม ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แล้วเราได้งบประมาณมา 3 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่ใช้จ่ายจริงก็ 6 ล้านกว่าบาท เราก็ทำมาเรื่อยๆ หนังใช้เวลาในการผลิตยาว กว่าจะเขียนบท จะถ่ายทำ ก็ใช้เวลาเป็นปี แล้วก็มาติดน้ำท่วมด้วย เลยเพิ่งจะมาเสร็จในช่วงมกราคม แล้วทำการยื่นให้กับคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์เพื่อตรวจอย่างที่เราทราบกัน แล้วก็ถูกแบน"

ที่ถูกแบนเพราะคณะกรรมการบอกว่า "มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ" คุณมีความเห็นว่าอย่างไร?

"ก็เป็นเนื้อหาที่กว้างนะครับ เกิดความแตกสามัคคี ผมไม่แน่ใจว่า หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่ง แล้วก็เป็นหนังผี หนัง Horror หนังสยองขวัญ จะทำให้ประเทศชาติแตกความสามัคคี เกี่ยวกับความมั่นคงได้อย่างไร ผมคิดว่า การตัดสินหรือการประเมินของคณะกรรมการออกจะเกินเลย ออกจะรุนแรงไป ผมไม่คิดว่าหนังของเราจะมีพลังได้ขนาดนั้น ผมคิดว่าอย่างกรณีของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลยครับ แกใส่เสื้อกั๊กตัวหนึ่ง แล้วไปพูด ก็สะท้านสะเทือนบ้านเมือง แต่หนังของเรา กว่าจะลงทุน กว่าจะถ่ายทำ คือเราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผลสะเทือนอะไรเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่เราพยายามพูดคุยกับคณะกรรมการฯ ต้องดูเจตนารมณ์ของการทำหนังด้วย"

อยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์อยู่ใช่ไหม?

"ยังอุทธรณ์ได้ครับก็ภายใน 15 วัน ก็ตั้งใจว่าจะยื่นอุทธรณ์วันที่ 17 เมษายนนี้ ก็ใกล้จะลงตัว"

คณะกรรมการดู "เชคสเปียร์ต้องตาย" ถึงสามรอบ แล้วตอนนั้นเขามีความเห็นว่าอย่างไร?

"คือเวลาที่เราให้เหตุผลไป คณะกรรมการก็รับฟัง แล้วพอถามคณะกรรมการว่า ตกลงจะให้ทางทีมงานหรือว่าทางผม แก้ไขอะไร ก็ไม่ได้รับคำตอบ คณะกรรมการไม่สามารถบอกได้ว่าต้องแก้ไขอะไร ในฐานะคนสร้างก็สับสน ถ้าจะให้ถอนหนังออกไป เพื่อปรับปรุง ตามที่คณะกรรมการฯ แนะนำ ผมก็ไม่ทราบว่าจะให้ผมไปปรับปรุงอย่างไร? เพราะว่าไม่ได้ชี้ว่าจุดไหนจะต้องทำอะไร ผมก็เลยยืนยันไปว่า หนังของเราทำมาก็สมบูรณ์แล้ว ผ่านการคิด ไตร่ตรองอย่างดี ก่อนที่จะมาเป็นหนัง เพราะตัวหนัง ทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งตัวผู้กำกับเอง ทีมงานทำกันอย่างเต็มที่ ถ้าจะไม่ชี้แจงให้ชัดเจนว่าตรงไหนต้องปรับปรุง เราก็ไม่สามารถจะรับความเห็นนั้นได้ ทีนี้พอมามีคำวินิจฉัยแบบนี้ มันครอบจักรวาลมาก คือโดยสรุป ผมคิดว่าคณะกรรมการก็คงเห็นว่า เรื่องนี้มีปัญหาทั้งเรื่อง ไม่ใช่ฉากใดฉากหนึ่ง

"ซึ่งผมคิดว่า ถ้าอย่างนั้น มันก็เป็นประเด็นแล้วครับ เป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกในงานศิลปะ โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ ผมว่า ณ เวลานี้ สื่อภาพยนตร์เป็นสื่อที่ถูกจำกัดสิทธิมากที่สุด เพราะสามารถที่จะถูกแบนได้ สื่อทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ สื่ออื่นๆ ยังมีเสรีภาพมากกว่า คุณมีโซเชียลมีเดีย มีอะไร คุณยังสามารถถล่มได้เต็มที่ แต่ภาพยนตร์ ไม่สามารถเสนออะไรได้เลย ณ ขณะนี้"

ในวันที่มีการอุทธรณ์ ร้องเรียนอย่างไรบ้าง?

"คือเราต้องชี้แจงความเห็นคัดค้านคำสั่งที่เราเห็นว่าครอบจักรวาลแล้วก็ไม่มีความชัดเจน เวลาให้คำวินิจฉัยแบบนี้ คือผมไม่รู้ไงว่ามันเป็นเหตุผลที่เรารับได้ไหม ที่ว่าก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ ตรงไหนที่ชี้ว่ามันจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ? กรรมการต้องชี้ให้ได้ เราต้องชี้แจงความเห็นของเราที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการ อาจจะตีความว่า เป็นเครื่องมือก็ได้ เรื่องนี้เท่ากับแบนหนังทั้งเรื่องนะครับ ไม่ได้ห้ามฉากใดฉากหนึ่ง โดยสรุปรวม ผมเข้าใจว่า กรรมการคงมีปัญหากับตัวหนัง ไม่ใช่ฉากใดฉากหนึ่ง

"อันนี้เราเห็นได้ชัด จากครั้งแรกเลย เมื่อคณะกรรมการได้ดู เขาแสดงความหนักใจออกมา แล้วคณะกรรมการก็สะท้อนความหนักใจให้เห็น ผมคิดว่าคณะกรรมการก็มีความกลัวอยู่ อันนี้ผมคงไม่ได้พูดอะไรที่เกินเลย อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่า บ้านเมืองอยู่ในภาวะของความกลัว คือ ไม่ทราบว่ากลัวอะไรกันบ้าง แล้วพูดถึงเรื่องการปรองดอง ว่าสถานการณ์บ้านเมืองของเราต้องการการปรองดอง อย่างที่ผมบอกนะครับ ไม่ทราบว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างความแตกแยกตรงไหน? ก็ไม่สามารถที่จะชี้ชัดลงไปได้ถ้าหนังจะไปกระทบกระเทือนกลุ่มบุคคลหรือคนใด ก็เป็นบุคคล แล้วก็ไม่มีกฎหมายห้าม"

ก่อนที่จะมีปัญหานี้ ดูเหมือนว่า "เชคสเปียร์ต้องตาย" ก็วุ่นในการหาโรงฉายอยู่?

"เราก็หาโรงฉายนะครับ ก็มีโรงหนังที่เขารู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ก็อยากให้เราไปผ่านเซ็นเซอร์ก่อน เพราะฉะนั้น การผ่านเซ็นเซอร์ก็จะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้โรงหนังเขาสบายใจ โรงหนังก็มีไม่เยอะ รอบก็จำกัด จริงๆ หนังเรื่องนี้ ถ้าปล่อยฉายไปตามปกติ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร อาจจะขายได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็คงต้องออก เพราะไม่สามารถที่จะทำเงิน หรือมีผู้ชมได้ ซึ่งผมก็ชี้แจงกับคณะกรรมการฯเหมือนกันว่า ถ้าปล่อยออกไปก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าท่านแบน มันจะกลายเป็นปัญหา เป็นข่าวไปทั่วโลก ซึ่งในตอนนี้เป็นข่าวไปทั่วโลกแล้ว เพราะว่าเท่ากับท่านแบนเชคสเปียร์ด้วย เพราะเรื่องทั้งหมดในภาพยนตร์มาจากเรื่อง แม็คเบ็ธ บทประพันธ์ของเชคสเปียร์ ก็มีส่วนที่เราเสริมเติมเข้าไป ที่ดึงสู่โลกปัจจุบัน เพราะว่า ถ้าเราเล่าถึงเชคสเปียร์ในแบบเก่า โบราณเลย คนไทยที่ดูหนังก็จะไม่ค่อยอิน เพราะฉะนั้น เราเลยอยากให้ร่วมสมัยกับเราด้วย มันไม่ใช่ละครเก่าหรืออะไร"

เราได้เงินทำหนังส่วนหนึ่งจากรัฐ(ทุนไทยเข้มแข็ง) แต่เราถูกแบนหนังจากรัฐเช่นกัน รู้สึกย้อนแย้งกับประเด็นนี้ไหม?

"คือตอนที่ขอทุนกับรัฐบาลของอภิสิทธิ์ในปี 2553 กว่าจะได้เงิน เราก็ต้องพิสูจน์นะครับ คือเราทำบทย่อให้ดู พอถ่ายแล้วต้องให้ดูว่าฉากที่ถ่ายไปว่า ไม่มีปัญหาในข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่มีต่อฉากการปลงพระชนม์พระราชา ซึ่งมีคนพยายามพูดไปทางว่า เราเนี่ยสื่อนัยยะอะไร? ซึ่งเราก็ยืนยันว่า เราไม่มีฉากแบบนั้น เพราะว่าเรายึดตามต้นฉบับของเชคสเปียร์ ซึ่งก็ไม่มี จนกระทั่งก็มีมติอนุมัติในสมัยนั้นนะครับ แต่กว่าที่เราจะมาเสร็จ เรามาเสร็จในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ทีนี้ สถานการณ์ทางการเมืองอาจจะเปลี่ยน อันนี้เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ ทางคณะกรรมการฯ เอง เมื่อดูหนังแล้ว ก็คงคิดถึงในบริบทของ ณ วันนี้ ซึ่งแตกต่างจากสมัยคุณอภิสิทธิ์ คงจะเกิดความกังวลและความหนักใจ อาจจะกลัวอะไรบางอย่างก็ไม่ทราบ ซึ่งผมก็พยายามชี้แจงครับว่า กระบวนการการตัดสินอะไรก็แล้วแต่ ถ้าท่านยังอยู่ภายใต้อิทธิพลความกลัว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ท่านหวั่นเกรง ภายในจิตใจของท่าน ท่านไม่สามารถหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับใครได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมได้คุยกับทางคณะกรรมการฯ"

แล้วกรณีบางฉากในหนังที่ทำให้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เราต้องการสื่อสารอะไรกับคนดู?

"คือการที่เราใช้ฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จากภาพข่าว มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง เราต้องการให้คนได้กลับไปนึกถึงการที่ครั้งหนึ่ง บ้านเมืองของเราประสบวิกฤตแบบนี้ ประชาชนลุกขึ้นฆ่ากันเอง ตรงนี้เราต้องการสะกิดให้คนได้คิด แล้วโดยเฉพาะในหนัง การถ่ายทำไม่ได้เน้นไปที่ผู้ที่ลงมือฆ่า หรือคนที่ถูกฆ่า แต่เราเน้นผู้ที่เป็นไทยมุง ที่กล้องไปถ่ายให้เห็นผู้ที่ยืนชมความรุนแรงแล้วปล่อยให้มันเกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เราอยากให้คนได้คิดในหนัง

"สาระสำคัญของหนังก็คือ เราต้องการให้คนทุกคนกลับมาสำรวจตัวเอง หนังไม่ได้พูดถึงเรื่องของอุดมการณ์การเมือง หรือเรื่องอะไร แต่พูดกลับไปสู่พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ รัก โลภ โกรธ หลง ความโลภ ความบ้าอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูง มันนำมาสู่โศกนาฏกรรม อันนี้คือสิ่งที่เราจะบอก เพราะฉะนั้น การที่เราใส่เหตุการณ์เหล่านั้น การเลียน หรือว่าการสร้างความคล้ายคลึง มันเพียงให้เราต้องคิด แล้วการที่จะมาบอกไม่ให้เราใช้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ คุณไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสตร์เพียงคนเดียว ประวัติศาสตร์เป็นของทุกคน แล้วทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม หรือนำประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาใช้เพื่อเป็นบทเรียน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

"แล้วเราไม่มีแนวนโยบายหรือแนวคิดการเมืองอะไรทั้งสิ้นที่ใส่ลงในหนังเราไม่ได้บอกว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราพูดอย่างเดียวว่า กลับเข้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ มนุษย์คือต้นเหตุของปัญหา ต้องกลับไปดูที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น อย่าพยายามบิดเบือนให้หนังไปปลุกระดม ทำโน่นทำนี่ ไปหมิ่นคนนั้นคนนี้ แต่หนังกำลังพูดว่านี่คือปัญหารากเหง้า ไม่ว่าการปกครองจะเป็นรูปแบบไหน จะเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือจะเป็นสาธารณรัฐ ประชาชนก็ยังเป็นมนุษย์อยู่นั่นแหล่ะ ยังรัก โลภ โกรธ หลง บ้านเมืองจึงปั่นป่วน อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะบอก แล้วสิ่งที่น่าเศร้าก็คือ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ในท้ายที่สุด ประชาชนนั่นแหละครับคือ เหยื่อ คือผู้ที่ถูกปลุกปั่นให้มาฆ่ากันเอง และนั่นคือฉากที่เราได้เห็นในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น นี่คือสิ่งที่เราจะบอก"

พอจะพูดได้เต็มปากไหมว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้สังกัดสีเสื้อการเมืองใด?

"ไม่มีหรอกครับ ผมไม่ได้สังกัดสีเสื้ออะไรทั้งสิ้น ผมสังกัดตัวของผมเอง ผมคิดว่าเรายึดที่มนุษย์นี่แหละครับ อย่างที่ผมบอก ในท้ายที่สุดไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออะไรมากมาย แต่กลับมาที่ที่ตัวคุณเองนั่นแหละ เรา (ในฐานะมนุษย์) ยังเป็นปัญหาอยู่"

บทละคร แม็คเบ็ธ ครั้งหนึ่งเคยถูกนำมาถ่ายทอดเป็นละครเวทีโดยคณะอักษรฯ จุฬาฯ เมื่อปีพ.ศ.2554 เวอร์ชั่นนั้น ต่างจาก "เชคสเปียร์ต้องตาย" ที่คุณอำนวยการสร้าง อย่างไรบ้าง?

"คือของจุฬาฯการนำเสนอก็จะเป็นแบบเก่า พยายามที่จะให้ได้ครบตามต้นฉบับของเชคสเปียร์ แต่ของเรา เนื่องจากเราทำเป็นภาพยนตร์ แล้วเราอยากให้เรื่องราวขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น แม้ประเทศที่ตั้งขึ้น จะเป็นประเทศที่เราสมมติก็แล้วแต่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าหนังเรื่องนี้จะมีปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ เราสร้างประเทศเป็นประเทศสมมติ ตัวละครก็ตัวละครสมมติ ซึ่งเราก็รู้ว่า เราไม่อยากมีปัญหา

"ขนาดเราเลี่ยงขนาดนี้แล้ว คือผมไม่เข้าใจ จะให้เราทำอย่างไรครับ? แม้กระทั่ง โอเค คณะกรรมการยอมรับได้ที่จะพูดภาษาไทย เพราะเราสื่อกับคนไทย แต่คณะกรรมการบางท่านก็มีคอมเมนต์ว่า โปสเตอร์ที่อยู่ข้างหลังภาพประท้วง ทำไมใช้ตัวอักษรไทย คือผมไม่รู้ว่าแบบนี้ผมจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไร(หัวเราะ) ผมจะพูดได้อย่างไรล่ะครับ เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้คนไทยดู แล้วเราก็นำบทประพันธ์ของเชคสเปียร์มาเพราะว่า บทประพันธ์ของเชคสเปียร์เขียนเมื่อ 400 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังร่วมสมัยกับเรา ทำไมเราไม่ตั้งคำถามล่ะครับ อะไรคือความร่วมสมัยของเชคสเปียร์ แสดงว่ามนุษย์ใน 400 ปีที่แล้วของเชคสเปียร์ แม้จะต่างชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ ก็ยังเป็นมนุษย์ ปัญหารากเหง้าของมนุษย์ยังเป็นแบบเดิม"


ชะตากรรมของ “เชคสเปียร์ต้องตาย” จะเป็นแบบเดียวกับภาพยนตร์ "Insects in the Backyard" ซึ่งกำกับโดย "ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์" หรือไม่ ตรงที่ว่าหนังไม่ได้ฉายในไทย แต่ต้องไปฉายที่ต่างประเทศแทน?

"ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ถ้าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ฉายให้คนไทยได้ดู เป็นความตั้งใจที่เราจะสร้างหนังเรื่องนี้ให้คนไทยได้ดู ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ฉาย มันก็เป็นหลักประจานประชาธิปไตยของประเทศนี้ ว่าประเทศนี้ไม่มีหรอกครับเสรีภาพที่คุณเรียกร้อง เสรีภาพกันต่างๆ นานา เราไม่มีหรอก อย่าหลอกตัวเอง ณ ขณะนี้เราไม่มีเสรีภาพ หนังเรื่องหนึ่งยังต้องถูกแบน ผมคิดว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ เกิดไม่ผ่านขึ้นมาจริงๆ ผมอาจจะไปติดคุกให้ก็ได้ เพื่อที่จะให้เห็นว่า แทนที่เราจะเดินบนท้องถนนที่คิดว่ามีเสรีภาพ สู้ผมไปติดคุกดีกว่า จะได้เห็นกันว่า มนุษย์เราไม่มีเสรีภาพ"

แล้วมีสายต่างหนังประเทศติดต่อมาบ้างไหม?

"มีกระแสพอสมควรที่ต่างชาติสนใจนำหนังไปฉายแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก คือทำเราทำหนังให้คนไทยดู เราไม่ได้ทำหนังเพื่อโปรโมตความดังของตัวผู้กำกับ ผู้สร้าง นั่นไม่ใช่สาระและไม่ใช่เป้าหมายของผู้กำกับ"

ฟีดแบ็กให้กำลังใจจากผู้คนทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง?

"ผมคิดว่าคนทุกกลุ่ม ทุกสี เขาไม่เห็นด้วยกับการแบนหนังเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าคุณเชื่อในประชาธิปไตย การแบนหนังไม่เป็นประชาธิปไตยในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ผมอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการกลับไปพิจารณาให้ดี แล้วในขั้นอุทธรณ์ ยังมีโอกาสที่จะทำผิดให้ถูกได้ ผมคิดว่าเสียงของประชาชนที่เราได้ยินสะท้อนออกมาแรงมากว่าไม่เห็นด้วยกับการแบน ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นคนกลุ่มเสื้อแดงที่รู้สึกว่าหนังอาจจะหมิ่นเหม่ที่จะไปพูดถึงคนเหล่านั้น เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการแบนหนัง เพราะว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพที่เขาจะมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนั้น ซึ่งเขาสามารถที่จะใช้วิจารณญาณของเขาเองในการไปดูว่าหนังเรื่องนี้ ดี มีคุณค่า หรือไม่มีราคาอย่างที่เขาต่อว่า ก็เป็นเรื่องที่เขาจะตัดสินเอง แต่คณะกรรมการไม่ควรจะลิดรอนสิทธิ์ของเขาโดยการแบนหนัง แล้วเราจะอยู่ในประเทศที่ผู้คนพากันกลัวได้อย่างไร? จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้ไหม? สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ตอนนี้กำลังจะมีความกลัวเกิดขึ้น ซึ่งไม่ต่างกับการปกครองภายใต้เผด็จการ ผมอยากจะบอกว่า ถ้าท่านเป็นประชาธิปไตย เราไม่ควรจะมีความกลัวแบบนั้น"

(ดูฟีดแบ็กของเสียงคัดค้านการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่ลิ้งก์ข่าว ประมวลเสียงคัดค้านหลังหนังไทย "เชคสเปียร์ต้องตาย" ถูกคำสั่ง "ห้ามฉาย" )

ภาพยนตร์ก่อนหน้าที่คุณทำ คือ "พลเมืองจูหลิง"(พ.ศ. 2551) ที่วิพากษ์เหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนมาถึงวันนี้ การสร้างภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" คุณมีมุมมองทางสังคมเปลี่ยนไปหรือไม่?

"คือทั้งผมทั้งผู้กำกับหนัง (สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์) มุมมองก็ไม่ได้เปลี่ยน ก็ยังคงเส้นคงวา เราต่อสู้กับความอยุติธรรม ต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน การละเมิดอำนาจ การทำร้ายผู้คน การเข่นฆ่าผู้คนที่ผ่านๆ มา เราต่อต้านสิ่งเหล่านั้น"

ภาพจากภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย"

เห็นชื่อหนังแล้ว น่าสนใจว่า ในสังคมไทย อะไรต้องตายก่อน?

"เสรีภาพไงครับ ตายก่อนเป็นอันดับแรก แค่หนังผมก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วครับ หนังถูกแบน อันนี้ชัด ถ้ามีเสรีภาพ ก็ไม่ต้องมาประท้วง ไม่ต้องมาที่จะพูดในเรื่องนี้ ก็พิสูจน์ให้เห็นสิครับว่าสังคมนี้มีเสรีภาพภายใต้รัฐบาลนี้ที่ชูธงเรื่องประชาธิปไตย พิสูจน์ให้เห็นสิครับ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการแบนหนังทำให้เห็นว่า มันไม่จริงหรอก ว่าภายใต้รัฐบาลนี้มีเสรีภาพ เพราะหนังเล็กๆ ของเรายังถูกแบน

คุณมองว่าการต่อสู้ในเรื่องการที่ภาพยนตร์ไทยถูกเซ็นเซอร์และแบน ในยุคหลังอย่างกรณี "แสงศตวรรษ" (พ.ศ.2549) ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, "Insects in the Backyard" (พ.ศ. 2553) ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จนมาถึงภาพยนตร์ของคุณเอง มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างไร?

"จริงๆ เรื่องการแบนหนัง คุณสมานรัชฎ์เคยถูกแบนมาครั้งหนึ่งแล้ว เรื่อง ′คนกราบหมา′ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราต้องไม่ลืมนะครับ อันนั้น โดนแบนในกฎหมายฉบับเก่า ทีนี้ ณ วันนี้ คุณสมานรัชฎ์ โดนรอบที่สอง พูดง่ายๆ เลย ในประวัติศาสตร์หนังไทย คุณสมานรัชฎ์เป็นคนแรกๆ เลยที่สร้างสถิติถูกแบนแบบนี้ แล้วก็ใน 15 ปีที่แล้วก็เป็นรัฐบาลของประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น จะมาบอกว่า รัฐบาลของประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ (เชคสเปียร์ต้องตาย) โปรดลบความคิดนั้นทิ้ง อย่ามาใส่ร้ายกันอย่างนั้น แล้วครั้งนี้ เป็นรัฐบาลเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ เพราะฉะนั้น หนังเราไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไหน หนังอะไรก็ตามที่พูดความจริง ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย รัฐบาลมักจะกลัว แล้วหนังของเราพูดสิ่งนี้ แล้วรัฐบาลก็กลัว ก็ต้องแบนหนังเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ วันนี้"

ความจริงก็ตายตามไปด้วย?

"ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ในสังคมไทย ที่ความจริงต้องตาย แล้วไม่มีใครต้องการความจริง ทุกคนกำลังหลงระเริงกับคำตกแต่ง ป้อยอ หลอกลวง คำเท็จ"

ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เห็นว่าอย่างไร?

"ก็คุยกันอยู่ คุณกอล์ฟ (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนปัจจุบัน) น่ารักมากครับ แกเคยประสบชะตากรรมที่โดนกับตัวเอง ภาพยนตร์เรื่อง ′Insects in the Backyard′ ของเขา เรื่องราวยังไม่จบยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาล เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากระทบทุกคนไม่ใช่หนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอุตสาหกรรม แล้วผมกำลังคิดว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ของการสร้างหนังไทยด้วยซ้ำ เพราะทำให้เราเห็นว่าหนังไทยมันถูกผลิตออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะว่าหนังเรื่องใดที่แตกออกไป ก็จะถูกคณะกรรมการฯไม่อนุญาต คณะกรรมการฯ ควรปรับทัศนคติ มีความใจกว้าง และต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก และเปิดเสรีภาพให้กับประชาชน ไม่ควรคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้ชม"


ท้ายที่สุดอยากฝากประเด็นใดไว้ ณ พื้นที่ตรงนี้?

"ทางหนังอยากเชิญชวนคนคัดค้านการแบนหนังเรื่องนี้ เราจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นด้วยกับการที่เราจะคัดค้าน เรากำลังล่ารายชื่อแล้วยื่นไปที่นายกฯ ก็เข้าร่วมได้ที่เว็บไซต์ของหนัง(www.shakespearemustdie.com) หรือเพจเฟซบุ๊คของหนัง ที่ใช้ชื่อว่า Shakespeare Must Die รับข่าวสารตรงนั้นได้ เราพยายามจะให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะว่าการต่อสู้เพื่อหนังเรื่องนิ้ ไม่ใช่เพื่อเราคนเดียว มันเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของทุกคน พอหนังถูกแบน ทุกคนก็ถูกลิดรอนสิทธิในการดูเหมือนกัน คณะกรรมการเซ็นเซอร์ปฏิบัติกับพวกประชาชนเหมือนกับพวกเขาไม่สามารถคิดเองได้ บางส่วนในคณะกรรมการเซ็นเซอร์ บางท่านก็พูดว่า เขาไม่เชื่อหรอกว่า คนไทยจะสามารถแยกระหว่างหนังกับโลกความเป็นจริงออกจากกันได้ คุณคิดว่า คำพูดนี้สำหรับคุณ คุณรับได้ไหม? เพราะฉะนั้น เมื่อท่านไม่เห็นด้วยกับการแบนหนังเพราะมันลิดรอนสิทธิของท่าน ก็ขอให้มาร่วมกับผมประท้วงการแบน ซึ่งต่อไปจะได้ไม่มีการแบนหนัง แล้วอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายที่ถูกแบนครับ"



0 comments: