ประมวลเสียงคัดค้าน หลังหนังไทย "เชคสเปียร์ต้องตาย" ถูกคำสั่ง "ห้ามฉาย"

4.08.2012

 

มติชน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333538454&grpid=01&catid=&subcatid=


วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:14:00 น



หลังจากภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ได้รับเรต "ห" หรือ "ห้ามฉาย" จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

รายงานความคืบหน้าล่าสุดจากเฟซบุ๊ก "Shakespeare Must Die" ระบุว่าผู้สร้างได้เริ่มกระบวนการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวแล้ว

มติชนออนไลน์ขออนุญาตประมวลความคิดเห็นของผู้ที่แสดงจุดยืนคัดค้านการ"ห้ามฉาย"ภาพยนตร์เรื่องนี้มาเผยแพร่ดังนี้

เกษียร เตชะพีระ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(เฟซบุ๊กส่วนตัว)

เชคสเปียร์เด็ก ๆ แมคเบธชิดซ้ายเมื่อเจอพี่ไทย

คือไอ้ที่เกิดขึ้นในบ้านเราสี่ห้าปีหลังนี้ไม่ว่าความมักใหญ่ใฝ่สูงต่ำทรามของสันดานบ้าอำนาจโหดเหี้ยมหักหลังแย่งชิง โกหกหลอกลวง ปล่อยข่าวเท็จ ป้ายสี ใส่ร้าย ข่มขู่ ทำร้าย อุ้มหาย ลอบสังหาร ฆ่าหมู่กลางเมือง ฯลฯลฯลฯลฯลฯ มันน่าสยดสยองและทำลายศีลธรรมอันดีของมนุษยชาติยิ่งกว่าในหนังเชคสเปียร์ต้องตายไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า จนฝรั่งห้ามทัวริสต์เข้าไทยก็ตั้งหลายรอบ ดังนั้น หนังเรื่องนี้ก็ "เด็ก ๆ" นะครับ พี่ไทยเราโหดกว่าแมคเบธเยอะ ดังนั้นที่บอกว่ากลัวคนดูจะแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องแต่งไม่ออกน่ะ เฮ้ย พวกท่านไปอยู่ไหนมา? เมืองไทยนะเว้ยเมืองไทย ศรีเชคสเปียร์ ชิดซ้ายไปเลย

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(เฟซบุ๊กส่วนตัว)

โอเค พอรู้แล้วครับ เรื่อง "เช็คสเปียร์ต้องตาย" มันออกมายังไง

...

อ่านที่บทความนี้ ของผู้สร้างนะครับ
http://www.shakespearemustdie.com/search?updated-max=2012-04-03T03%3A54%3A00-07%3A00&max-results=1&start=1&by-date=false

เช่น

"เราต้องต่อสู้กับความกลัวจริงๆ เพราะการทำหนังของเราต้องเผชิญทั้ง ′ไฟนรกและน้ำสูง′ คือการยึดพื้นที่กลางเมืองโดยเสื้อแดงตามด้วยเผาบ้านเผาเมืองในปี 2553 ซึ่งทำให้โรงถ่ายปิด ต้องพักการถ่ายทำถึงสองอาทิตย์ และสร้างความยากลำบากสุ่มเสี่ยงในการเดินทางมาทำงานของทุกๆ คน โดยเฉพาะคุณหญิงเมฆดับ (เลดี้แม็คดัฟ) ซึ่งโดนก่อกวนเชิงลวนลามโดยการ์ดเสื้อแดงทั้งเช้าและค่ำ จนต้องย้ายไปนอนบ้านเพื่อน และครั้งหนึ่ง (28 เม.ย.) ทำให้เราติดอยู่ที่รังสิต เมื่อถนนวิภาวดีรังสิตถูกตัดขาด บ่ายวันที่ทหารโดนซุ่มยิงตายในเหตุการณ์รุนแรงที่อนุสรณ์สถาน-ตลาดไท แล้วพอรอดจากไฟนรกก็ต้องผจญภัยกับน้ำสูง (โพสต์โปรดักชั่นขั้นสุดท้ายขัดข้องเพราะน้ำท่วม)"

แต่ผมต้องยืนยันความเห็น ตั้งแต่ที่ได้ข่าวเรื่องแบนแล้วว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการแบนหนังนะครับ

ผมไม่เชื่อหรอกว่า "ชาติ" นี้ มันจะ "เปราะบาง" ขนาดที่หนังเรื่องเดียวทำให้ "เกิดการแตกแยกของคนในชาติได้"

ไม่ว่า ผู้สร้างหนัง มีทัศนะการเมืองอย่างไร ผมก็ว่า ไม่ควรแบน (ลองอ่าน บทความที่ให้ link ดูนะครับ ผมว่า คนสร้างจะยิ่ง ด่า รบ.ยิ่งลักษณ์หนัก นี่ก็พูดถึง "ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ที่นับวันยิ่งแตกแยกทวีคูณภายใต้การปกครองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร..." อะไรแล้ว)

................

ความจริง ผมเดาแต่แรก ที่เห็นชื่อคนสร้างว่า น่าจะออกมาในแนว "อัด" เสื้อแดง - ทักษิณ มากกว่า แต่อ่านรายงานมติชน ตอนแรก ก็ลังเลว่า หรือ จะ "อัด 2 ฝ่าย" แต่ดูจากบทความแล้ว ผมสงสัยว่า น่าจะ "โฟกัส" การ "อัด" ที่ฝ่ายนี้ (เสื้อแดง-ทักษิณ) นั่นแหละ

และผมกำลังสงสัยว่า ตัวเอก แม็คเบธ คนสร้างบรรยายไว้ดังนี้

"เป็นเรื่องราวของขุนพลที่มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขต และคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์ เมื่อมีแม่มดมาทักว่าจะได้เป็นกษัตริย์ในภายหน้า และโดยการยุยงของภรรยา เขาสังหารพระราชาเพื่อสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แม็คเบ็ธปกครองแผ่นดินด้วยความบ้าอำนาจ พาให้บ้านเมืองตกอยู่ในยุคมืดมนแห่งความหวาดกลัว โดยที่ตัวเขาเองก็ปราศจากความสุข ต้องใช้ความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อรักษาอำนาจของตน"

ผมว่า ต้องการให้หมายถึงทักษิณ แหงๆ

................

ชญานิน เตียงพิทยากร
นักวิจารณ์ภาพยนตร์รุ่นใหม่
(เฟซบุ๊กส่วนตัว)

เชคสเปียร์ต้องตาย (Thailand, สมานรัชฎ์ กาญจนวณิชย์, 2012, A+++++++++++++++++++++++++)

เมื่อครั้งดูจบใหม่ๆ ผมเขียนอะไรไร้สาระประเภทว่า ถ้าเกิดหนังได้เข้าฉาย การมี ธาริณี เกรแฮม อยู่ในรายชื่อสาขานักแสดงนำหญิง คงจะเป็นความดุเดือดเลือดพล่านอันน่าปรารถนาสำหรับพวกบ้าหนังอย่างเรา

สุดท้ายมันก็ไม่เกิดขึ้นจริง เมื่อกรรมการเซ็นเซอร์ได้สั่งแบนหนังเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

′เชคสเปียร์ต้องตาย′ เล่าเรื่องทับซ้อนสองเส้น เส้นหนึ่งว่าด้วยผู้นำประเทศนาม ′เมฆเด็ด′ กับหนทางสู่อำนาจของเขา ซ้อนทับเข้ากับเส้นเรื่องของละครเวที ′แม็คเบธ′ ที่ผู้กำกับคนหนึ่งจัดแสดงขึ้น เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองอย่างไม่อ้อมค้อม ก่อนที่สภาพของเวทีละครจะกลายเป็นแหล่งสังหารหมู่เมื่อสารทางการเมืองของมันกระทำการได้สัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุด

การแพร่กระจายของสารนั้นอาจรุนแรงจนรัฐต้องหวาดผวา พวกเขาจึงต้องตัดตอนมันอย่างป่าเถื่อน - เช่นเดียวกับที่หนังเรื่องนี้ถูกสั่งห้ามฉาย - สุดท้ายแล้วพวกคนที่เชิดหน้าชูคอ ริอ่านจะเอาแม็คเบธมาแสดงในสังคมไทย มันก็ต้องพบกับจุดจบเดียวกัน

มันไม่เกี่ยวกับว่าสุดท้ายแล้วนี่จะเป็นหนังของใคร เป็นหนังของคนที่เข้าชุมนุมทางการเมืองกับสีไหน เป็นหนังที่สร้างมาเพื่อด่าใคร ไม่ว่าจะเพื่อด่าแบบตรงๆ เหมือนกำหมัดแล้วส่งแรงเหวี่ยงเข้าไปที่ปลายคางของคนนั้นคนนี้ หรือสิ่งที่จำต้องด่าแบบแอบๆ ซ่อนๆ เพราะประเทศนี้การพูดอะไรตรงไปตรงมานั้นถือเป็นของแสลง

มันถูกแบนเพียงเพราะมันพูดเรื่องการเมืองแบบไม่มีน้ำตาลเคลือบ นี่คือความอัปยศของประเทศแห่งพระสยามเทวาธิราชแห่งนี้ ประเทศที่เป็นบ้ากับความสงบ ความสามัคคี ความสมานฉันท์ กระทั่งต้องตัดตอนทุกสิ่งที่มันคิดไปเองว่าอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือเกิดการกระทบกระทั่งทางความคิด อันจะทำให้ภาวะสงบเงียบราบคาบของสังคมนั้นถูกทำลายลง

ต่อให้ผมจะคิดไม่เหมือนคุณอิ๋งในด้านทัศนคติทางการเมืองแบบแทบจะยืนตรงข้ามกัน แต่ในความเป็นภาพยนตร์ มันควรได้ทำหน้าที่ตามที่มันถูกสร้างขึ้นมา นั่นคือการออกฉายและมีเสียงตอบรับ ไม่ว่ามันจะเป็นดอกไม้ช่อยักษ์หรือก้อนหินดินทราย

ไม่เกี่ยวว่าหนังเรื่องนี้จะด่าใคร เสยกำปั้นเข้าปลายคางใคร มุบมิบกระซิบซ่อนความนัยถึงใคร ไม่เกี่ยวว่าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาด้วยความลึกซึ้งหรือตื้นเขินทางการเมือง หรือจะถูกต้องทางการเมืองตามทฤษฎีไหนๆ หรือไม่

เมื่อมันออกฉาย ผู้คนเพียงหยิบมือ (สำหรับหนังประเภทนี้) ก็จะสร้างบทสนทนาวิวาทะต่อกัน ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับมัน รังเกียจสาปส่งมัน เห็นว่ามันเป็นเทพหรือเห็นเป็นปีศาจอัปรีย์

ในประเทศที่เต็มไปด้วยความสงบราบคาบนี้ ความตรงไปตรงมาแบบไม่อ้อมค้อมเท่าที่ ′เชคสเปียร์ต้องตาย′ มีอยู่ ได้ทำให้มันกลายเป็นหนังสำคัญเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย ไม่ว่าสารทางการเมืองของมันจะปลุกไฟขึ้นกับผู้ที่ได้รับชม (ไม่ว่าพวกเขาจะยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้สร้างหรือไม่) หรือจะแห้งตายซากเหมือนไม้ขีดที่ทำได้แค่จุดบุหรี่

อาถรรพ์ที่แม็คเบธเวอร์ชั่นนี้ต้องเผชิญ ยิ่งทำให้มันกลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก ความหวาดกลัวภาวะไม่เสถียรได้ยกให้มันสูงเลอค่าในฐานะผู้ถูกกระทำ ไม่มีใครมีโอกาสได้รับชม วิพากษ์ หรือขว้างมูลอุจาดใส่มันเมื่อเขารังเกียจ ความวิตกจริตอันวิปริตกลับยิ่งช่วยขัดเงาให้มันศักดิ์สิทธิ์เลอค่ากระทั่งไม่มีใครได้สัมผัสมันจริงๆ

และเชคสเปียร์ก็ยังไม่ตาย

(3 เมษายน 2012)

แถลงการณ์ผู้กำกับ "เชคสเปียร์ต้องตาย"

(เขียนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.shakespearemustdie.com/search?updated-max=2012-04-03T03:54:00-07:00&max-results=1&start=1&by-date=false)

บทความนี้เขียนขึ้นขณะที่เรากำลังเตรียมใจส่ง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ไปให้กองเซ็นเซอร์พิจารณา ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ที่นับวันยิ่งแตกแยกทวีคูณภายใต้การปกครองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่ถึงสามเดือนหลังจากมหาอุทกภัย ซึ่งพาให้เราใจหายใจคว่ำไปพักหนึ่ง เมื่อหนังของเราต้องพลอยติดเกาะอยู่ที่ห้องแล็บใกล้สนามบินดอนเมือง

ตั้งแต่จำความได้ฉันไม่เคยเห็นเมืองไทยอารมณ์เลวร้ายเท่ากับยามนี้ทุกอณูอากาศทุกผงธุลีเปี่ยมล้นด้วยความโกรธเกลียดชังความเศร้า ความสิ้นศรัทธา

จึงค่อนข้างแน่นอนว่าทั้งกองเซ็นเซอร์และฝ่ายอื่นๆ ย่อมตั้งคำถามลักษณะนี้กับเรา: พวกคุณไม่เกรงกลัวหรือว่าหนังเรื่องนี้อาจทำให้สังคมแตกแยกยิ่งขึ้น?; คุณมีอคติต่อเสื้อแดงหรือเปล่า?; คุณไม่กลัวเสื้อแดงมาฆ่าหรอกเหรอ?; หนังเรื่องนี้เป็นการโจมตีครอบครัวชินวัตรใช่ไหม?; หรือว่าเป็นการโจมตีพระราชวงศ์...; หนังเรื่องนี้รื้อฟื้นบาดแผลสังคมทั้งเก่าและใหม่โดยไม่จำเป็นหรือไม่?; ทำไมคุณหญิงเมฆเด็ด (เลดี้แม็คเบ็ธ) จึงเรียกปีศาจร้ายให้เข้ามาสิงตัวเธอ ขณะที่กำลังพนมมืออยู่หน้าพระพุทธรูป? ฯลฯ

************************************************************

คติ ประจำกองถ่ายของเราคือ:"ต่อสู้ความกลัวด้วยศิลปะ–สร้างศิลปะด้วยความรัก "ซึ่งเป็นคติประจำใจที่ไม่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตแต่มันสว่างดีฉัน พิมพ์มันลงบนเสื้อยืดประจำกอง ฉันแปะมันไว้ข้างประตูโรงถ่าย (ที่คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ที่รังสิต ซึ่งน่าเศร้ามากที่โดนน้ำท่วมจนเสียหายยับเยิน) เพื่อคอยเติมไฟให้ทุกคนในการทำงาน เคียงข้างวรรคหนึ่งจากอีกบทละครของเชคสเปียร์ "A Midsummer Night’s Dream" ("ฝันอลหม่านกลางเหมันต์") ซึ่งเล่ากันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นยันตร์กันผีคำสาปแม็คเบ็ธอันน่าเกรงกลัว เพื่อให้นักแสดงที่ถือเรื่องนี้สบายใจ: "แน่ใจหรือว่าเราตื่นกันอยู่? ดูเหมือนกับว่าเรายังคงหลับ และฝัน"

เราต้องต่อสู้กับความกลัวจริงๆ เพราะการทำหนังของเราต้องเผชิญทั้ง "ไฟนรกและน้ำสูง" คือการยึดพื้นที่กลางเมืองโดยเสื้อแดงตามด้วยเผาบ้านเผาเมืองในปี 2553 ซึ่งทำให้โรงถ่ายปิด ต้องพักการถ่ายทำถึงสองอาทิตย์ และสร้างความยากลำบากสุ่มเสี่ยงในการเดินทางมาทำงานของทุกๆ คน โดยเฉพาะคุณหญิงเมฆดับ (เลดี้แม็คดัฟ) ซึ่งโดนก่อกวนเชิงลวนลามโดยการ์ดเสื้อแดงทั้งเช้าและค่ำ จนต้องย้ายไปนอนบ้านเพื่อน และครั้งหนึ่ง (28 เม.ย.) ทำให้เราติดอยู่ที่รังสิต เมื่อถนนวิภาวดีรังสิตถูกตัดขาด บ่ายวันที่ทหารโดนซุ่มยิงตายในเหตุการณ์รุนแรงที่อนุสรณ์สถาน-ตลาดไท แล้วพอรอดจากไฟนรกก็ต้องผจญภัยกับน้ำสูง (โพสต์โปรดักชั่นขั้นสุดท้ายขัดข้องเพราะน้ำท่วม)

ทุก ความหวาดหวั่นของเราหลั่งไหลลงในการสร้างผลงานทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังได้ เห็นได้ฟังได้ดูดซับจากโลกรอบๆตัวเราและหนังของเราทุกอย่างที่เรากลัวซึม ซ่านออกมากับทุกหยาดเหงื่อทุกรูขุมขนของเรา

ก็ไม่เป็นไร ยิ่งดีเสียอีก ในเมื่อเรากำลังทำหนังสยองขวัญกันอยู่

บางครั้ง มันทำให้ฉันต้องเปลี่ยนความคิดสำหรับบางฉาก เช่น ฉากสุดท้ายของแม่มด: สามนางกำลังนั่งดูชัยชนะของเมฆเด็ด (แม็คเบ็ธ) บนจอทีวี และตามบทพวกเธอต้องแสดงความสะใจนิยมยินดี แต่เราถ่ายทำฉากนี้รุ่งขึ้นจากวันที่ถนนเข้ากรุงเทพถูกตัดขาดโดยความรุนแรง เหล่าแม่มดที่น่าสงสารรู้สึกเศร้าใจ ไม่สามารถควานค้นหาความยินดีมาแสดง ถึงแม้ว่าในที่สุดฉันบีบคั้นความยินดีออกมาจนได้เทคหนึ่ง แต่มันรู้สึกจอมปลอม ไม่น่าเชื่อถือ สุดท้ายฉากนี้ในหนังจึงมีเพียงแม่มดที่ซึมเศร้าและรู้สึกผิด ละอายต่อมารร้ายที่พวกเธอปลุกปล้ำขึ้นมาคุกคามโลก ในลักษณะนี้ หนังของเราจึงถูกกล่อมเกลามาโดยปวงเทพมืดมัวที่มารุมเฝ้าการเกิดของมัน

การ ออกแบบเสียงสำหรับฉากคุกก็ได้มาจากวันนั้นขณะที่เสียงผู้หญิงประกาศทั่ว ม.กรุงเทพให้ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยและ"อย่าพยายามเดินทางเข้า กรุงเทพ"กองทัพเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนอยู่เหนือเมฆเหนือหัวเรา เสียง ฉ็อพฉ็อพฉ็อพ ระทึกใจของมันห่อหุ้มด้วยฟ้าเมฆต่ำสีเทา ส่งเสริมให้เสียงนั้นทั้งกังวานและอุดอู้อื้ออึง โดยที่เรามองไม่เห็นอะไรเลย

*************************************

บอกให้เราเข้าใจหน่อยเถิดว่าทำไมสิ่งนี้จึงไม่เพียงพอ?ศิลปะจำเป็นต้อง"เป็นกลาง"และ"ยุติธรรม"ด้วยหรือ? (ท่ามกลางความมึนเมาของการจงใจปั่นข่าวและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยหมอผีพีอาร์ และความรักตัวกลัวตายของนักสื่อสารมวลชน ขอถามว่าข่าวที่นำเสนอตามสื่อต่างๆ นั้น "เป็นกลาง" และ "ยุติธรรม" สักแค่ไหน? แทนที่จะมาเรียกร้องหาสิ่งนี้จากหนังผีทุนต่ำของเรา ทำไมคุณไม่ตั้งคำถามกับการที่หนังสือนิวส์วีคยกย่องยิ่งลักษณ์เป็นวีรสตรี--เคียงบ่าเคียงไหล่กับ อง ซาน ซู จี และฮิลลารี คลินตัน—ประมาณว่าแม่พระผู้ส่งเสริมความสมานฉันท์ และจัดการน้ำท่วมได้อย่างเก่งกาจ)

"เชคสเปียร์ต้องตาย" คือจุดรวมฝันร้ายของเรา นี่คือมโนภาพแห่งความสยองขวัญของเรา มันเป็นหนังผีมิใช่หรือ? หนังผีสมควรเป็นเรื่องของสิ่งที่พาให้เราใจหายและหวาดผวา มันไม่ใช่รายงานข่าวหรือแม้กระทั่งสารคดี มันไม่มีหน้าที่เลคเชอร์ข้อมูลอะไรให้คุณเชื่อ มันมีไว้ให้คุณได้สัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึก ก็เท่านั้นเอง เราดูดซึมยาพิษจากยุคสมัยมาถักทอเป็นภาพต้องมนต์สะกดเพื่อความสนุกเพลิดเพลินของคนดู

หนัง ผี-หนังสยองขวัญจะทำหน้าที่ของมัน--คือไล่ผีและปลดปล่อยปมขมวดทางจิตให้เรา --ได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมันไม่หลีกเลี่ยงสารพิษในผืนดินถิ่นกำเนิดของมันแต่ พร้อมที่จะหยั่งรากลึกลงไปในก้นบึ้งของพิษร้ายนั้นอย่างเต็มอกเต็มใจและเต็ม ที่

นอกจากนั้น ในฐานะนักทำหนังทุนต่ำที่มีปูมหลังเป็นนักข่าว ฉันอดใจไม่ได้ที่จะไม่ออกไปถ่ายภาพความวินาศสันตะโร ทั้งที่ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิร์ลด์ยังไม่ทันดับ โดยเฉพาะโรงหนังสยามอันเป็นที่รัก พร้อมกับหน้ากากกรีกฝาแฝดแห่งการละคร ที่พักตร์หนึ่งเศร้า (โศกนาฎกรรม) และพักตร์หนึ่งหัวร่อ (ตลกหรรษา) ซึ่งผ่านกองเพลิงมาได้โดยไม่เป็นอะไรเลย เช่นเดียวกับแผ่นโปสเตอร์โฆษณาหนังรักตลกของเจนนิเฟอร์ อนิสตัน ที่กำลังฉายอยู่

ผู้กำกับงบน้อยต้องไขว่คว้า ต้องฉกฉวยทุกของถูกของฟรี ทุกโอกาสที่จะเติมความอลังการให้แก่หนัง ไม่มีทางเลยที่เราจะสร้างภาพมหากาพย์แบบนี้ขึ้นมาได้เองจากปัจจัยที่มีอยู่ ในเมื่อมันเจ๋งและเป็นของฟรี ฉันไม่อาจปฏิเสธของขวัญที่ฟ้าประทานมาให้บนถาดเงิน

ภาพ หลังแทนกรีนสกรีนหลังแม่มดในฉากนั้นเดิมจะเป็นการฉายซ้ำของน้ำตกไนแองการ่า เป็นเลือด(นี่ก็ของฟรีเหมือนกันที่รีบคว้ามาจากการได้ตั๋วฟรีไปเทศกาล ภาพยนตร์โตรอนโตกับ"พลเมืองจูหลิง"หนังเรื่องก่อน)แต่มันย่อมตกกระป๋องไป ในเมื่อเรามีไฟล์ภาพซากตอตะโกของเซ็นทรัลเวิร์ลด์กับหน้ากากโรงหนังสยาม

*******************************************

ส่วนการ "รื้อฟื้นแผลเก่า" ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ของช่างภาพสำนักข่าวเอพี นีล ยูเลฟวิช รูปไทยมุงรอบชายในเสื้อซาฟารี ที่ใช้เก้าอี้เหล็กตีศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอกับต้นไม้กลางสนามหลวง เรื่องนี้ ฉันคงต้องโยนคำถามกลับมาให้ตอบกับตัวคุณเองว่า มันจำเป็นหรือไม่ที่จะเท้าความถึง 6 ตุลา มหาวิปโยค? เหตุการณ์นั้นมีชนวนอ้างอิงเป็นการแสดงละครประท้วงเช่นกัน โปรดสังเกตด้วยว่าโฟกัสในฉากนี้จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าบรรดากองเชียร์ ไม่ใช่กับศพและชายที่ฟาดเก้าอี้ สิ่งที่ฝังใจเรามากกว่า คือคนที่เรียกกันว่าคนธรรมดา รวมทั้งเด็กๆ ที่มายืนหัวเราะและสนับสนุนยุยง

ภาพ ข่าวภาพนี้ ติดตาตำใจและจิตวิญญาณวัยรุ่นทึ่มๆ ของฉัน ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นในปี 2519 จนกลายมาเป็นความหมกมุ่นส่วนตัวมาตลอดชีวิต ภาพนี้หลอกหลอนเราด้วยความหวาดหวั่น—แบบเด็กกลัวผี--ว่าจะถูกเข่นฆ่าโดย อันธพาลคลั่งเจ้าและลูกเสือชาวบ้านและด้วยความรู้ซึ้งคาใจว่าคนธรรมดา อาจกลายเป็นฆาตกรและเมืองไทยกลายเป็นรวันดา1994ได้ภายในพริบตาเดียวหากว่า ถูกยุยั่วปั่นหัวเป็นหางโดยนักโฆษณาชวนชั่วอย่างถูกจุด

มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ

ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าเขาเป็นซ้ายหรือว่าเป็นขวาไม่ใช่ประเด็น แต่คนลักษณะนี้ทำให้ชีวิตของเราและของบ้านเมืองไร้เหตุผลและเสียสติ ทำให้ความสงบเหือดหายและเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเยอรมันกับนาซี เราควรให้ลูกหลานทุกคนได้เห็นภาพนี้ เราควรจดจำมันไว้เสมอ ไม่ใช่เพื่อโหมไฟอาฆาตพยาบาทต่อกัน แต่เพื่อเตือนใจทุกคน รวมทั้ง "คนดี" อย่างที่เราคิดว่าเราเป็นด้วย ที่อาจกลายเป็นปีศาจได้ ถ้าถูกยั่วยุเกินทน

*******************************************

ส่วน เรื่องการใช้สีแดงอย่างฟุ่มเฟือยในหนังขอยกสองประโยคแรกจากคำนำบทละคร"แม็ค เบ็ธ"ฉบับของคณะละครเชคสเปียร์ในพระบรมราชินูปถัมป์(TheRoyalShakespeare Company): "′แม็คเบ็ธ′ เป็นละครโศกที่สั้นและเร็วที่สุดของเชคสเปียร์ สีของมันคือสีดำและแดง"

สิ่งนี้ เป็นคุณลักษณะที่โจ่งแจ้งของละครเรื่องนี้เสียจนเราตัดสินใจใช้ถาดสีนี้ ก่อนที่เราจะได้อ่านคำนำนั้นเสียด้วยซ้ำ---ดำสำหรับค่ำคืน แดงสำหรับเลือด และทองสำหรับอำนาจ ซึ่งเราใช้อย่างมึนเมาในความดื่มด่ำในคาราวัจจิโอ ศิลปินบาร็อคบ้าเลือดที่เราคลั่งไคล้ในการออกแบบฉากและแสง (คาราวัจจิโอเกิดหลังเชคสเปียร์ไม่นาน การมองโลกที่เต็มไปด้วยเงามืดและแสงสว่าง เส้นคมชัด สีที่ชุ่มฉ่ำ เทคนิคที่เหนือมนุษย์ ทั้งสองท่านมีเหมือนกัน และเป็นที่รู้กันดีว่าคุณวิลเลี่ยมท่านหลงใหลอิตาลี ตามแฟนตาซีของคนที่ไม่เคยมีวาสนาไปอิตาลี แต่เอามาเป็นฉากตลอดเวลา)

หากว่าไร้อคติ คุณจะเห็นได้อย่างง่ายดายว่า กลุ่มอันธพาลที่คาดหัวด้วยผ้าแดงที่แท้ก็สวมเครื่องแบบลิเกนั่นเอง: หัวโพกผ้าแดงคือเพชฌฆาต ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลง่ายๆ ที่สมัยก่อนไม่นานมานี้ เพชฌฆาตไทยนั้นโพกผ้าแดงในการประหารชีวิตนักโทษ

ใน "เชคสเปียร์ต้องตาย" ฆาตกรในโลกของโรงละครในหลายฉากก่อนหน้านั้น รวมทั้งองค์พญายม ล้วนคาดหัวหรือคลุมหัวด้วยผ้าแดง แต่ในอีกฉากซึ่งเกิดขึ้นในโลกนอกโรงละคร เราใช้เครื่องแบบอีกประเภทสำหรับกลุ่มฆาตกรที่ฆ่าคุณหญิงเมฆดับ คือสูทเสื้อซาฟารีผ้าใยสังเคราะห์สีเทา, ดำ หรือน้ำเงิน ซึ่งเป็นชอร์ทแฮนด์ของไทยเราสำหรับลูกกะเป้ของผู้มีอิทธิพล นิยมสวมใส่โดยคนขับรถและมือปืนประจำตัวนักการเมือง เป็นต้น

*****************************************************

ต่อ ให้ไม่นับมรดกทางวัฒนธรรมอันนี้ต้องยอมรับว่าสีแดงเป็นสีสากลที่หมายถึง เลือดและความรุนแรงหนังแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงจอกว่าจะเขียน บทกว่าจะหาทุนกว่าจะหานักแสดงครบ ทักษิณมีสิทธิผูกขาดการใช้สีแดงเช่นเดียวกับที่เขาต้องการผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่าง…อย่างนั้นหรือ?

ใน การสร้างหนังผีเชคสเปียร์ของเราฉันปฏิเสธที่จะเล่นตามบทและกฎเกณฑ์ที่กำหนด ขึ้นโดยคนเขียนบทของทักษิณคุณอาจเลือกที่จะทำตามกติกาเหล่านั้นที่เขากำหนด ขึ้นมาลอยๆนั่นเป็นการตัดสินใจของคุณมันไม่ใช่เรื่องของฉัน(ถ้าโชคดีคุณอาจ ได้ประโยชน์จากมันก็เป็นได้ มีข่าวร่ำลือหนาหูในหมู่นักทำหนังว่า ทักษิณกำลังช็อปปิ้งหาผู้กำกับทำหนังชีวประวัติของเขา ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ย่อมไม่ใช่หนังทุนต่ำแน่นอน)

หากว่าความคิดเช่นนี้ทำให้ฉัน "ไม่เป็นประชาธิปไตย" และทำให้ยากลำบากในการนำ "เชคสเปียร์ต้องตาย" ออกมาสู่สายตาโลก มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ

ด้วยความนับถือ

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

กทม., 19 มี.ค. 55

0 comments: